น่ารู้! กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษียังไง เตรียมพร้อมก่อนเกษียณ
หากจะกล่าวถึงคนวัยทำงาน เรื่องของสิทธิประโยชน์ของวัยทำงานนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการรู้และเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ที่ตนเองสามารถได้รับ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราได้รับผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความสมดุลและมีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์สำหรับเหล่าคนวัยทำงาน ที่สามารถวางแผนเพื่อต่อยอดเงินส่วนนี้ให้งอกเงย และเป็นเงินออมสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ
และสำหรับใครที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นตัวช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และวางแผนการเงินให้เป็นระบบมากขึ้น บทความนี้ ได้นำเรื่องที่คุณสงสัย มาเล่าให้ฟังกันแล้ว ตามมาอ่านกันเลย
ยาวไปเลือกอ่านตามหัวข้อได้นะ
1. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
2. การรับเงิน และคำนวณภาษี เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ช่วยลดหย่อนภาษียังไง?
4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต่างกันยังไง?
1. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นสวัสดิการที่บริษัท/องค์กร หรือนายจ้าง มีให้แก่ลูกจ้างหรือพนักงานในสังกัด โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มเงินออมในช่วงที่ยังทำงานอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ
หากเงินที่ถูกหักสะสมเข้ากองทุนนั้นยังคงอยู่ในกองทุน จะไม่ถูกนำไปคำนวณภาษีประจำปี แต่ถ้ามีการรับเงินจากกองทุนออกไปแล้ว จะถูกนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย โดยเงินนี้จะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
- ส่วนที่ 1 เงินสะสมจากเงินเดือน - เงินที่หักจากเงินเดือนทุกเดือน แล้วนำไปสะสมในกองทุน
- ส่วนที่ 2 เงินสมทบจากนายจ้าง - เงินที่นายจ้างช่วยจ่ายสมทบและสะสมเข้ากองทุนของลูกจ้างทุกเดือน
- ส่วนที่ 3 เงินที่งอกเงยจากเงินสะสม - เงินผลประโยชน์จากการลงทุนของเงินสะสมของลูกจ้าง
- ส่วนที่ 4 เงินที่งอกเงยจากเงินสมทบ - เงินผลประโยชน์จากการลงทุนของเงินสมทบ
2. การรับเงิน และคำนวณภาษี จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง จะสามารถรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ 3 กรณี ดังต่อไปนี้
รับเงินเนื่องจากเกษียณ
เมื่อลูกจ้างหรือพนักงานมีอายุถึงวัยเกษียณตามที่บริษัทกำหนด (55 ปี หรือ 60 ปี แล้วแต่บริษัทกำหนด) หรือบางบริษัทมีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) โดยผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนอย่างต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปี เงินส่วนนี้จะเข้าเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษี
รับเงินเนื่องจากลาออกจากกองทุน (ไม่ลาออกจากงาน)
กรณีลูกจ้างที่ส่งเงินสะสม ขอลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและรับเงินสะสมจากกองทุน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนมานานเท่าไร หรือมีอายุงานเท่าไร จะต้องนำเงินสะสมในส่วนที่ 2 และ ส่วนที่ 4 ที่ได้รับ มาคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีด้วย
รับเงินเนื่องจากลาออกจากงาน
กรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงาน แล้วบริษัทใหม่ มีสวัสดิการเป็นการสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย ก็ยังสามารถโอนยอดเงินที่เคยสะสมไว้ มาสะสมต่อกับบริษัทใหม่ได้ โดยเงินจำนวนนี้ จะไม่ถูกนำมาคำนวณภาษี
แต่ในกรณีที่ บริษัทใหม่ ไม่มีสวัสดิการสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถขอคงเงินสะสมไว้ในกองทุนของบริษัทเดิม โดยมีค่าธรรมเนียมรายปี หรือสารถโอนไปสะสมที่กองทุน RMF (ถ้ามี) ก็ได้เช่นกัน
หากลูกจ้างต้องการถอนเงินสะสมออกมาทั้งหมด เงินสะสมในส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 และ ส่วนที่ 4 จะถูกนำไปคำนวณภาษี โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลัก ๆ ดังนี้
- สมาชิกกองทุนอายุน้อยกว่า 5 ปี เงินสะสมในส่วนที่ 2, ส่วนที่ 3 และ ส่วนที่ 4 ที่ได้รับ จะถูกนำมารวมเป็นรายได้และนำไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี
- สมาชิกกองทุนที่อายุ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกคำนวณภาษีแบบข้อด้านบน หรือ คำนวณตามขั้นตอนด้านล่างนี้
{ (เงินส่วนที่ 2 + ส่วนที่ 3 + ส่วนที่ 4) - 7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน } x 0.5 จากนั้น นำจำนวนที่ได้ไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ช่วยลดหย่อนภาษียังไง?
การสะสมเงินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) นอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
หากถามว่ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ คำตอบคือ จำนวนเงินที่จะลดหย่อนนั้น จะขึ้นอยู่กับ % ของเงินสะสมที่ถูกหักออกมาแต่ละเดือน ตามที่ผู้สะสมเลือกเอาไว้ ยิ่งเลือกสะสมใน % ที่มาก ก็จะมีสิทธิลดหย่อนได้มากขึ้นตามไปด้วย
ตัวอย่าง
นาย M ได้รับเงินเดือน 30,000 บาท และหักสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เดือนละ 3% รวม 1 ปีก็จะหักสะสมไปทั้งหมด 10,800 บาท และนาย M จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ 10,800 บาท
แต่ถ้านาย M เพิ่ม % การหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็น 5% ก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 18,000 บาท
ในส่วนของสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนกองทุน RMF, SSF และประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนรวมกันได้ สูงสุด 50,000 บาท
4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต่างกันยังไง?
หากจะกล่าวถึงกองทุนที่เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ เชื่อว่าหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้ ก็จะมีความคล้ายและแตกต่างกันในบางส่วน จึงอาจทำให้มีบางคนเกิดความสับสน วันนี้แอดจะมาเปรียบเทียบความแตกต่างของ 2 กองทุนนี้ให้ฟังกัน ตามตารางนี้เลย
การวางแผนการเงินและการวางแผนการจ่ายภาษีเป็นสิ่งสำคัญที่คนวัยทำงานควรให้ความใส่ใจ เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีผลต่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวและคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน
ในส่วนของการวางแผนภาษี การรู้จักสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราสามารถใช้ได้ เช่น การหักลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือการลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิต สามารถช่วยให้เราประหยัดภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ควรเริ่มต้นทำความเข้าใจและวางแผนการเงินและภาษีตั้งแต่วันนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวคุณเอง
โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 20/02/68