Loading...

กำลังโหลดหน้าเว็บไซต์
รอสักครู่น้า Loading...

       การกำกับดูแลกิจการที่ดี ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและหลักความสุจริตใจต่อกัน เนื่องจากธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ทั้งนี้ การที่บริษัท จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน บริษัทจำเป็นที่จะต้องมีระบบการควบคุมภายในที่ส่งเสริมการถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) การดูแลให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงมีการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ

       บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) จึงได้มีการจัดทำกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Framework) ฉบับนี้ขึ้น เพื่อเป็นหลักหรือแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท เพื่อใช้ในการกำกับดูแลให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงผลประกอบการที่ดีในระยะยาว โดยตระหนักดีว่าคณะกรรมการบริษัท เป็นหัวใจสำคัญใน การกำหนดทิศทาง นโยบายที่สำคัญ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งหมด โดยควบคุมให้บริษัทฯ มีกระบวนการและกลไกในการควบคุมภายใน และการตรวจสอบที่มีประสิทธิผล มีการวางแนวทางในการติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างฝ่ายกำกับดูแล และฝ่ายบริหารที่ชัดเจน ตลอดจนมีการส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อช่วยทำหน้าที่ในการกลั่นกรองในมิติต่างๆของการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ มีการดำเนินกิจการอย่างมั่นคง โปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัย และ ผู้มีส่วนได้เสียที่นำไปสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ

วัตถุประสงค์ของกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี

       1) เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทมีกระบวนการหรือแนวทางในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสีย คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของบริษัทฯ
       2) เพื่อให้บริษัทฯ มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและอนาคต
       3) เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และมีการบริหารจัดการ ความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ

1) คณะกรรมการบริษัท หมายความว่า คณะกรรมการของบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต 

2) กรรมการ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท

3) กรรมการที่เป็นผู้บริหาร หมายความว่า กรรมการที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร กรรมการ ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการใด ๆ เยี่ยงผู้บริหาร และให้หมายความรวมถึงกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพัน เว้นแต่จะแสดงได้ว่าเป็นการลงนามผูกพันตามรายการที่คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติไว้แล้ว และเป็นการลงนามร่วมกับกรรมการรายอื่น

4) ผู้บริหาร หมายความว่า ผู้จัดการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมาผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า

นโยบายด้านอื่น ๆ