Seasonings... (might) become sources of disease
การกินอาหารรสจัดมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเมนูโปรดที่ผ่านการปรุงแต่งมากมายจนรสชาติกลมกล่อมถูกปาก ทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ตามแต่ความชอบ แต่ต้องระวังไว้ เพราะหากเติมมากจนเกินพอดี อาหารรสจัดจ้านก็อาจเป็นบ่อเกิดของโรคร้าย และส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพได้เช่นกัน มาดูกันว่า เครื่องปรุงบนโต๊ะอาหารที่เราคุ้นเคย มีอะไรบ้างที่หากบริโภคมากเกินไปโดยไม่ระมัดระวัง จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจนน่าตกใจ
ติดเค็ม เสี่ยงหัวใจพัง ความดันพุ่ง
โซเดียม คือส่วนประกอบหลักที่อยู่ในเครื่องปรุงรสเค็ม ที่ไม่ได้มีจำกัดแค่เพียงใน เกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊ว แต่โซเดียมยังแฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่อาหารมื้อแรกจนถึงมื้อสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นซุปก้อนปรุงรสในข้าวต้มหรือน้ำแกงจืด มีอยู่ในอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อนยาก รวมถึงขนมขบเขี้ยวระหว่างวัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่างกายของเราต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเพียง 1 ช้อนชาเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าคนไทยบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่มาตรฐานไว้ถึง 2 เท่า หากไม่ปรับพฤติกรรมปรุงอาหารให้เค็มน้อยลง สาวกโซเดียมทั้งหลายก็เสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคร้าย อย่างความดันโลหิตสูง และในระยะยาวจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและไตเสื่อมได้ในที่สุด
หนักหวาน หนักพุง แถมก่อมะเร็งตับและมะเร็งมดลูก
ชีวิตที่ไม่อ่อนหวาน...นานไปก็ทำลายสุขภาพ เพราะอาการหนักหวานไม่ใช่แค่เหยื่อของโรคเบาหวานเท่านั้น น้ำตาลที่เปลี่ยนเป็นพลังงานเมื่อเข้าสู่ร่างกาย หากไม่ถูกใช้หรือได้รับการเผาผลาญที่เพียงพอ ก็จะเปลี่ยนรูปเป็นไขมันสะสม ที่อาจก่อให้เกิดโรคอ้วน และสารพัดปัญหาสุขภาพที่ตามมา ซึ่งความหวานที่อยู่ในเครื่องปรุงนั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในน้ำตาล แต่ยังสามารถเป็นได้ทั้งคาร์โบไฮเดรตที่เปลี่ยนรูปมาจากแป้ง ซีอิ๊วหวาน ผลไม้ กาแฟ น้ำอัดลม ครีมเทียม หรือแม้แต่บรรดา นมข้นหวาน ที่บางสูตรอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์จากนมอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นส่วนผสมของน้ำตาล แป้ง และน้ำมันปาล์ม ที่ยิ่งทำให้ร่างกายได้รับไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น โดยที่ได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่จำเป็น เข้าไปสะสมในร่างกาย และเสี่ยงที่จะมีคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นไปอีก เราจึงควรอ่านฉลากส่วนประกอบ และฉลากโภชนาการ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ถ้าจะให้ดีคือควรปรับพฤติกรรมการปรุงหวานให้ลดน้อยลงไปด้วย
นอกจากนี้ คนที่ชอบปรุงหวาน ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งตับ ที่เกิดจากร่างกายนำไขมันจากน้ำตาลที่รับมาไปใช้ไม่หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับ หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้กลายเป็นตับแข็ง และนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด รวมไปถึงมะเร็งมดลูก (ไม่ใช่มะเร็งปากมดลูก) ที่เกิดจากภายในร่างกายมีน้ำตาลสูงมากเกินไป จนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ในเยื่อบุมดลูกที่เจริญเติบโตมากเกินไปได้ จนไม่อาจควบคุมได้และกลายเป็นโรคร้ายในที่สุด เราแนะนำสำหรับสายเฮลท์ตี้และคนที่ต้องการลดหวานในจานอาหารว่า ใน 1 วันเด็กควรกินน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชา และผู้ใหญ่ควรกินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา หากสามารถควมคุมปริมาณการบริโภคได้ตามมาตรฐาน ลองเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ก็ช่วยให้คุณสุขภาพแข็งแรง และห่างไกลจากโรคร้ายขึ้นอีกก้าวหนึ่ง
เผ็ดร้อนช่วยเบิร์น แต่ถ้าปรุงเกินเสี่ยงมะเร็งร้าย
อาหารไทยขึ้นชื่อว่า รสชาติเผ็ดร้อน ซึ่งอาหารรสจัดจ้านช่วยเพิ่มชีวิตชีวา แต่ความแซ่บไม่ได้มีแค่ความอร่อย ยังมีอาการเจ็บป่วยและโรคร้ายที่แฝงมากับความเผ็ดร้อนในจานของคุณด้วย ลองสังเกตตัวเองดู หลังกินเผ็ดเรามักจะมีอาการแสบร้อนในท้องหรือท้องเสียรวมอยู่ด้วย แต่อาการที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หากยังปล่อยให้พฤติกรรมเดิมเกิดขึ้นซ้ำๆ อาการแรกที่อาจถามหาคือกรดไหลย้อน ที่น้ำย่อยในกระเพาะของเราไหลกลับขึ้นมาตามหลอดอาหาร ซึ่งหากปล่อยให้เรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ก็อาจกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ หรือในกรณีที่เรากินเผ็ดจนผนังลำไส้ใหญ่มีการอักเสบและเป็นแผล กลายเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากไม่รีบรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ก็อาจพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งลำไส้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่การกินพริกเท่านั้น แต่พริกป่นที่นิยมเติมลงในอาหาร หากไม่ระวังปล่อยให้ชื้นจนเปลี่ยนสภาพ สารพิษโอคราท็อกซิน เอ ที่ปนเปื้อนก็สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน รู้แบบนี้แล้ว ใครที่ชื่นชอบอาหารรสเผ็ดก็ควรค่อยๆ ลดความแซ่บในจานของตัวเองลงทีละนิด ปรุงรสชาติแต่พอดี เพื่อสุขภาพที่ดีลดโอกาสเสี่ยงจากโรคร้ายรอบตัว
ปรุงให้เปรี้ยวจี๊ด ภัยระบบน้ำเหลืองที่น่ากลัว
กินเปรี้ยวเขาว่าดี มีวิตามินซีช่วยป้องกันอาการหวัดได้ แต่ต้องระวัง สำหรับใครที่เลิฟในความเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด ต้องมีมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเตรียมพร้อมไว้ ให้รู้ว่าคุณกำลังเติมปัญหาสุขภาพลงในจานอาหารของตัวเอง เพราะการปรุงอาหารจนเปรี้ยวเกินไปนั้น อาจไม่ได้จบลงที่อาการท้องเสีย แต่ความเป็นกรดจะกัดกร่อนผิวฟัน และก่อให้เกิดอาการฟันผุตามมา รวมทั้งยังทำปฏิกิริยากระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะให้ไหลกลับขึ้นมา จนเป็นสาเหตุของอาการกรดไหลย้อนได้เหมือนกับคนที่ชอบปรุงอาหารรสเผ็ด
นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ที่ทำให้บาดแผลหายช้าลงกว่าปกติ หรือในกรณีที่ ร่างกายได้รับน้ำมะนาวเทียม หรือน้ำส้มสายชูปลอม ที่ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง สิ่งพิมพ์ สิ่งทอ และอาจปนเปื้อนโลหะหนัก ก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารของเรา สิ่งที่ควรทำจึงเป็นการปรุงอาหารให้มีรสชาติที่พอเหมาะ หากไม่มั่นใจให้เลี่ยงไปใช้เครื่องปรุงรสเปรี้ยวที่เกิดจากธรรมชาติแทนที่ อย่างน้ำมะขามเปียก ใบมะขามอ่อน มะม่วงดิบ มะม่วงเบา ยอดส้มป่อย หรือยอดกระเจี๊ยบ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับสุขภาพ และเสริมเกราะป้องกันโรคร้ายทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ เราได้รับทั้งความหวาน โซเดียม หรือแม้แต่ไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละมื้ออยู่แล้ว การปรุงแต่งรสอาหารให้จัดจ้านยิ่งขึ้น จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายให้เข้าสู่ร่างกายมากเกินความจำเป็นยิ่งขึ้น เราจึงควรลด ละ เลี่ยง ความหวาน มัน เค็ม ให้น้อยลง เพื่อผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีในระยะยาว
ทั้งนี้ ใช่ว่าจะไม่สามารถปรุงได้เลยทีเดียว การค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หาสิ่งที่มีประโยชน์มาทดแทน ก็จะสามารถช่วยในเรื่องการดูแลสุขภาพได้เช่นกัน อย่างการงดน้ำหวานระหว่างมื้อ เปลี่ยนของว่างยามบ่ายจากขนมกรุบกรอบ มาเป็นเป็นผลไม้ที่มีรสหวานน้อย แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร หรือแตงโม ก็จะช่วยเพิ่มความสดชื่นกับร่างกาย และยังช่วยให้ร่างกายมีการขับถ่ายเป็นปกติ หรืองดของว่างจำพวกอาหารแปรรูป ของทอด หรืออาหารปรุงสำเร็จพร้อมอุ่นร้อนเพื่อลดไขมันและโซเดียม ก็จะช่วยให้สุขภาพปลอดภัยจากโรคร้ายเช่นกัน แต่การกินอาการหรือผักผลไม้ก็ควรมีข้อระวัง ไม่ควรกินในปริมาณมากๆ เนื่องจากผลไม้บางชนิดก็มีน้ำตาลสูง และผักหรืออาหารบางจานก็มีแร่ธาตุที่ร่างกายไม่ควรได้รับในปริมาณมากเช่นกัน
นอกจากนี้ การดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดให้เพียงพอ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่ปราศจากภาวะความเครียด ก็จะช่วยเสริมเกราะป้องกันให้ร่างกายได้อีกทางหนึ่ง หากรู้จักความพอดีและสมดุลในการเลือกใช้ชีวิตและกินอาหาร ก็จะทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยที่น่ากลัวในระยะยาว
การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เสริมความมั่นใจยิ่งขึ้น ตอบโจทย์สายกินได้ด้วย สัญญาเพิ่มเติม ซีไอ เพอร์เฟค แคร์ ของเมืองไทยประกันชีวิต ที่คุ้มครองมากถึง 36 โรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะรุนแรง พร้อมรับผลประโยชน์เงินก้อน เพื่อให้คุณสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งดูแลแบบต่อเนื่องให้คุณวางใจ ไม่ต้องกังวลยามเจ็บป่วย
หมายเหตุ
ความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมต้องไม่เกินระยะเวลาเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่สัญญาเพิ่มเติมนี้แนบท้าย
การพิจารณารับประกันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ
เบี้ยประกันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครองและข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, ผู้จัดการออนไลน์, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลสุขุมวิท, โพสต์ทูเดย์