วัยเก๋าต้องรู้ 4 โรคที่มาพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้น
คำว่าแก่พูดเบาๆก็เจ็บ แต่จะเจ็บกว่าหากเราไม่เตรียมพร้อมป้องกันกับโรคที่มาพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้น แม้เราดูแลตัวเองดีแค่ไหน ความสึกหรอที่มาพร้อมกับวัยก็จะยิ่งช้าลงไปเท่านั้น วันนี้ MTL มีคำแนะนำในการป้องกันและดูแลโรค ที่มักมาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น เพื่อป้องกันและสุขภาพที่ดีของผู้สูงวัยกันครับ
1. โรคเกี่ยวกับกระดูก ภัยร้ายสายเงียบ
อายุที่มากขึ้นส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกเบาบางลงจนเปราะหักได้ง่าย และกลายเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด สาวๆควรระวังโรคนี้เป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย อันตรายของโรคกระดูกพรุนคือโรคนี้แทบไม่มีสัญญาณล่วงหน้าจนกระทั่งเกิดหกล้มกระดูกหักขึ้นมาจึงจะรู้อาการ
ดังนั้นการบำรุงกระดูกตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
2. ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด ถ้ากายพร้อมใจก็ต้องพร้อมด้วย
กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดในสมองนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุโดยตรง แต่เป็นผลมาจากการละเลยการดูแลสุขภาพเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดการสั่งสมของน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้
ควรลดความเสี่ยงจากโรคกลุ่มนี้โดยการไม่รับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือไขมันมากเกินไปและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุที่มีอาการของโรคเหล่านี้ควรเลือกรับประทานโปรตีนจากถั่วหรือปลาแทนที่จะเป็นเนื้อ หมู เพราะปลามีไขมันที่เรียกว่าโอเมก้าสาม ซึ่งเป็นไขมันดีที่เชื่อว่าสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย
3. โรคเกาต์ เกาต์ไหนก็ไม่เท่าเกาต์รักตัวเองนะ
แต่ถ้ารักตัวเองต้องไม่เสี่ยงกับโรคเกาต์ โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกภายในเลือดในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินกับคำนี้บ่อยๆ ว่า กินไก่แล้วเป็นเกาต์ จริงๆ แล้วการกินไก่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดโรคเกาต์ แต่ก็ไม่ควรกินในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะหากควบคุมกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ก็สามารถกินอาหารได้มากขึ้น
วิธีลดความเสี่ยงกับโรคเกาต์คือ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก รับประทานผักผลไม้ให้มากกว่าเนื้อสัตว์ และดื่มน้ำให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอนะครับ
4. โรคสมองเสื่อม ความจำสั้นแต่รักฉันยาว
แต่ถ้าอยากให้ความจำยาวด้วยก็ต้องป้องกันตัวเอง เพราะโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละคนจะเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน ด้วยปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ โรคหรือความเจ็บป่วย ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งอาหาร อาชีพ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย
วิธีง่ายๆที่เราสามารถลดความเสี่ยงจากโรคนี้คือ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ระวังการใช้ยาเอง หมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ออกกำลังกายเป็นประจำและหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดและเพื่อชะลอภาวะสมองเสื่อม เช่น ดนตรีบำบัด เล่นเกมฝึกสมอง เป็นต้น
ที่มา : โรงพยาบาลเปาโล และ สสส.