ผื่นคัน สาเหตุอาการคันยุบยิบ ที่มาพร้อมตุ่มตามตัว
อยู่ดี ๆ ก็คัน ผื่นคัน อาการคันยุบยิบ กวนใจที่มาพร้อม ผื่นคัน ตุ่มเล็ก ๆ สามารถขึ้นได้ตามผิวทุก ๆ ส่วนของร่างกาย จากหลายสาเหตุ เช่น ผื่นแพ้อากาศ ถูกแมลงกัดต่อย การแพ้สารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้ โรคผื่นแพ้ผิวหนังมักพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ ได้แก่ ภูมิแพ้อากาศ หอบหืด สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
คัน ๆ หาย ๆ รู้จักประเภทของอาการ ผื่นคัน
ผื่นคัน หรืออาการคัน เป็นกลุ่มอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย และมักนำไปสู่การแกะเกา โดยผู้ป่วยที่มีอาการคันอาจมีผื่นผิวหนังร่วมด้วย หรือไม่ก็ได้ อาการคันอาจเป็นเพียงเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วทั้งตัว และอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ เช่น ทำให้เสียสมาธิ รบกวนการทำงาน การนอน หรือส่งผลเสียทางด้านจิตใจ ในผู้ป่วยที่มีการแกะเกามาก อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณผิวหนังตามมาได้ด้วย
โดยอาการคันสามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย อาจคันเพียงบริเวณเล็ก ๆ หรือคันทั่วร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ผิวแห้ง ผิวแตก เป็นขุย มีผื่นแดง ผื่นนูน หรือตุ่ม แผลพุพอง เป็นต้น
ประเภทของอาการคัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. อาการคันเฉียบพลัน มีอาการคันเป็นมาไม่เกิน 1 สัปดาห์ และหายไปได้เองหลังจากดูแลผิว เช่น ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้น และทายาแก้คัน
2. อาการคันเรื้อรัง มีอาการเป็นมานานเกิน 1 สัปดาห์ถึงหลายเดือน หรือเรื้อรังไม่หายขาด ซึ่งควรได้รับการตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสมกับแพทย์ผิวหนังต่อไป
ประเภทของผื่นคันที่พบได้บ่อย
1. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง : เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ผิวแห้ง เกิดตุ่ม หรือผื่นคัน และเกิดการอักเสบของผิวหนัง
2. ผื่นระคายสัมผัส : โรคผื่นระคายสัมผัสทำให้เกิดผื่นคัน ผิวแห้งลอก บางครั้งอาจเกิดตุ่มบนผิวหนัง ผิวบวมแดง และรู้สึกแสบร้อน โดยมักเกิดหลังจากผิวหนังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
3. ลมพิษ : มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง และบวม มีทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรัง เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ให้เกิดอาการแพ้
4. สะเก็ดเงิน : โรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วผิดปกติ
5. ผดร้อน : เป็นตุ่มผื่นคันสีแดงขนาดเล็ก มักพบบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับแขน และขาหนีบ พบได้ทุกวัย ซึ่งจะพบบ่อยในทารก
6. กลาก : กลากเกิดจากการติดเชื้อราที่อาศัยอยู่ที่เซลล์ผิวหนังชั้นนอก ทำให้เกิดผื่นคันลักษณะเป็นวงกลม หรือวงรีสีแดง และมีขุยสีขาวอยู่รอบ ๆ
7. ผื่นอักเสบที่เกิดขึ้นระหว่างรอยพับของผิวหนัง : จากการเสียดสีบริเวณซอกพับของผิวหนัง เช่น รอยพับที่คอ หน้าท้อง รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ และง่ามนิ้ว
8. แผลพุพอง : มีลักษณะเป็นผื่นคัน แดง และอาจกลายเป็นตุ่มหนองที่แตกออก หรือเป็นแผลตกสะเก็ดได้ พบบริเวณจมูก ปาก มือ และเท้า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
9. อีสุกอีใส : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งทำให้เกิดตุ่มแดงขนาดเล็กที่ผิวหนัง ทำให้รู้สึกคัน และในเวลาต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำที่แตกออกได้
10. ผื่นแพ้ยา : เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ และยาขับปัสสาวะ
ยิ่งเกายิ่งลาม สาเหตุอาการผื่นคัน
สาเหตุของผื่นคัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางรายเป็น ผื่นคัน เกาแล้วลาม หรือผื่นคัน ตุ่มเล็ก ๆ ใสๆ
1. โรคทางผิวหนัง เช่น ภาวะผิวแห้งจากอายุ อากาศ หรือจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง กลาก เกลื้อน อีสุกอีใส โรคผิวหนังอักเสบ โรคลมพิษ โรคสะเก็ดเงิน ผื่นจากแมลงกัดต่อย ตุ่มยุงกัด การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ภาวะผิวแห้ง และโรคหิด ตลอดจนอาการคันจากการแพ้สารที่สัมผัสผิวหนัง
2. โรคทางระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะดีซ่าน โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน โลหิตจาง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือการมีพยาธิบางชนิดในร่างกาย และเกิดจากยาที่รับประทาน เป็นต้น
3. โรคทางระบบประสาท อาการคันอาจพบได้ใน โรคปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด โรคเบาหวาน และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
4. สาเหตุทางจิตใจ เช่น ผู้ป่วยที่เข้าใจว่ามีพยาธิไชตามผิวหนัง ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือมีภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจพบสาเหตุของอาการคันหลายชนิดร่วมกันได้ ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการคันบางราย แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว อาจยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีเพียงอาการคันโดยปราศจากผื่นผิวหนัง
วิธีป้องกันผื่นคัน
คันปุ๊บ เกาปั๊บ เหมือนว่าเป็นระบบอัติโนมือของคนทั่วไปเมื่อเกิดอาการคัน เราจะระงับอาการคันโดยการเกาแรง ๆ จนเจ็บ หรือผิวหนังถลอก ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่รู้ หรือไม่ว่าการเกามัน ๆ จะทำให้ผิวหนังอักเสบ และคันมากขึ้น หลังจากนั้น 5 นาที เพราะฉะนั้นจะต้องจำไว้เลยว่า เมื่อเกิดอาการคันอย่าไปเกาเป็นอันดับแรก โดยเราสามารถหลีกเลี่ยง หรือป้องกันอาการคันที่ไม่ได้เกิดจากโรค หรือความเจ็บป่วยร้ายแรง ได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น สารเคมี สบู่ หรือผงซักฟอกบางชนิด
- ไม่อาบน้ำอุ่น หรือน้ำร้อน ซึ่งส่งผลให้ผิวแห้ง
- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- พยายามหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากอาจทำให้หนังถลอก หรือเกิดการติดเชื้อ
- ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ควรรับประทานยา และปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ
ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการผื่นคันควรสังเกตตัวเองเป็นประจำ เพราะหากมีอาการคันที่รุนแรง และมีอาการคันติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือหาสิ่งรบกวนไม่พบ ให้ระมัดระวัง เพราะอาจเป็นอันตรายได้ แนะนำควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป พร้อมเสริมความมั่นใจให้กับสุขภาพด้วยประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย จากเมืองไทยประกันชีวิต
✔ วงเงินเลือกได้ 2 แสน - 100 ล้านบาท
✔ ดูแลค่ารักษาทั้งโรคเล็ก โรคแรง คุ้มครอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคทั่วไป
✔ เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ
✔ สมัครได้ถึงอายุ 90 ปี คุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปี
รายละเอียดเพิ่มเติม
☑️ โทร.1766 ตลอด 24 ชั่วโมง
☑️ ติดต่อตัวแทนประกันชีวิต หรือ สาขา ธนาคารกสิกรไทย
- สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพต้องซื้อแนบท้ายกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่
- ความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมต้องไม่เกินระยะเวลาเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่สัญญาเพิ่มเติมนี้แนบท้าย
- เงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์
- เบี้ยประกันภัยสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
- การพิจารณารับประกันภัยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ
- เงื่อนไขเป็นไปตามที่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กำหนด
- โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 20/02/67
🔖 samitivejhospitals (ข้อมูล ณ วันที่ 29/09/65)
🔖 thaihealth (ข้อมูล ณ วันที่ 3/05/61)
🔖 pobpad
🔖 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (ข้อมูล ณ วันที่ 21/08/60)