การบริหารความเสี่ยงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) โดยการบริหารความเสี่ยงเป็นแนวคิดการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ภายใต้การแข่งขันเสรีที่ภาคธุรกิจและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆที่อาจทำให้บริษัทไม่สามารถประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ จึงได้ดำเนินการให้มีโครงสร้างการกำกับดูแลความเสี่ยง เพื่อบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ อย่างดีที่สุด บริษัทฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรและเพิ่มความสามารถในการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแนวทางในการบริหารความเสี่ยงโดยครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. จัดโครงสร้างองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานในการบริหารความเสี่ยงที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงาน และมีการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และลำดับขั้นการรายงานอย่างชัดเจน ซึ่งสนับสนุนต่อการสร้างวัฒนธรรมการตระหนักถึงความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร
2. ระบุประเภทความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ประเภทของความเสี่ยงที่บริษัทฯ มี และกำหนดระดับความเสี่ยงที่มุ่งหวัง (Risk Appetite) ช่วงความเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance) โดยมีการพิจารณาจากความพร้อมในการบริหารและความสามารถในการรองรับความเสี่ยงดังกล่าว
3. มีวิธีการวัดและประเมินความเสี่ยงที่สามารถสะท้อนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
4. มีการกำหนดแนวทางและวิธีการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจกำหนดนโยบายให้มีการปิดความเสี่ยงที่ไม่มีระบบบริหารความเสี่ยงรองรับหรือไม่สามารถบริหารความเสี่ยงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือกำหนดให้มีการใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ แนวทางที่ใช้ต้องสอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจ ความพร้อมของระบบงาน บุคลากร และระบบข้อมูลที่บริษัทฯ
5. มีการรายงานและติดตามความเสี่ยง โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีผู้ที่มีหน้าที่ดูแลบริหารความเสี่ยงคอยติดตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและรายงานผลให้ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ
6. กำหนดให้มีกระบวนการการบริหารความเสี่ยงของกิจกรรมหลักตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงและความซับซ้อนของบริษัทฯ โดยจะต้องสามารถสะท้อนความเสี่ยง รองรับการวัด การบริหาร การควบคุมและติดตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลักนั้นได้
1) เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ จะได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบและอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่มุ่งหวัง (Risk Appetite) และช่วงความเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance) ของบริษัทฯ
2) เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรของบริษัทฯตระหนักถึงความเสี่ยงและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนความจำเป็นและความสำคัญของการมีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
3) เพื่อพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะของบุคลากรตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่าการเติบโตของบริษัทฯ นั้นควรเป็นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้เชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ เป็นไปอย่างรอบคอบและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเพียงพอ ทั้งนี้บริษัทฯคำนึงถึงความเสี่ยงที่บริษัทฯเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ และ แผนธุรกิจของบริษัท เพื่อเตรียมแผนจัดการความเสี่ยงดังกล่าว
ในการจัดทำแผนธุรกิจนั้นบริษัทฯจะประเมินทิศทางและแนวโน้มทางการตลาดในอนาคต กำหนดเป้าหมาย และวางแผนในการรองรับการขยายงานของบริษัทฯ ในอนาคต โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากความเสี่ยงต่างๆ เหล่านั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องวางแผนการขยายการเติบโตในช่องทางการขายต่างๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้า การกำหนดเบี้ยประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย การพัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย การลงทุน รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ของบริษัทฯ ให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับระดับเงินกองทุนที่บริษัทฯได้ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการต่างๆ ของบริษัท รวมถึงทำการทดสอบภาวะวิกฤตเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเพียงพอของเงินกองทุนภายใต้สถานการณ์ต่างๆ
บริษัทฯ มีการจัดการเงินกองทุนตามความเสี่ยงประเภทต่างๆ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการลงทุน ความเสี่ยงด้านการประกันภัย ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เป็นต้น เพื่อให้การบริหารจัดการเงินกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและทันต่อเหตุการณ์ บริษัทฯมีกระบวนการประเมิน ติดตาม และรายงานความเพียงพอของเงินกองทุนอย่างสม่ำเสมอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งภายใต้ภาวะปกติและภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแผนธุรกิจนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าใจในกิจกรรมของตนเป็นอย่างดีและตระหนักว่าในกระบวนการปฏิบัติงานล้วนมีความเสี่ยงมาเกี่ยวข้อง การดำเนินการใดๆ จึงต้องพิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านระบบงาน ความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร คำนึงถึงความมั่นคงและสภาพคล่องของบริษัทฯ ความเสี่ยงในด้านต่างๆ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงด้วย ดังนั้น หน่วยงานเหล่านั้นจึงต้องสามารถระบุจำแนกประเภทความเสี่ยงที่ตนเองเผชิญ หรือจะต้องเผชิญในอนาคตได้ สามารถประเมินความเสี่ยงและจัดลำดับความเสี่ยงได้ รวมถึงมีการวางแผนเครื่องมือเพื่อใช้ในการจัดการความเสี่ยง และมีการติดตามและสอบทานผลการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงที่บริษัทฯเผชิญหรืออาจจะต้องเผชิญในอนาคต ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้วยตัวเอง (RCSA) ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงที่สำคัญ (KRI) และ การเก็บข้อมูลความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (LED) ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงของกิจกรรมหลักของบริษัทฯ เครื่องมืออื่นๆ เช่น Duration, Sensitivity Analysis, Stress test และ Cash Flow Monitoring เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ในการบริหารความไม่สอดคล้องกันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ทั้งนี้บริษัทฯได้มีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯจึงได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management; BCM) เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯจะสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการให้บริการ อันจะนำไปสู่ความไว้วางใจจากลูกค้าและทำให้บริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต
ระดับความเสี่ยงที่มุ่งหวัง หมายถึง ระดับความเสี่ยงโดยรวมและประเภทความเสี่ยงที่บริษัทยินดีจะยอมรับภายใต้ศักยภาพในการรับความเสี่ยง เพื่อให้บริษัทบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนธุรกิจที่วางไว้
ความเสี่ยงที่มุ่งหวังมีบทบาทสำคัญในการสร้างผลตอบแทนของเงินทุนให้มีค่าสูงสุดเนื่องจากเป็นตัวขับ เคลื่อนให้เกิดการจัดสรรเงินทุนสำหรับความเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการประเมินความเสี่ยง การติดตามดูแลความเสี่ยง และการควบคุมความเสี่ยง โดยทำให้พนักงานตระหนักถึงความเสี่ยงที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าใจถึงลำดับความสำคัญของความเสี่ยงต่างๆ ที่องค์กรเผชิญอยู่ และทำให้องค์กรสามารถติดตามและควบคุมความเสี่ยงให้สอดคล้องกับระดับความสำคัญได้
ความเสี่ยงที่มุ่งหวังมีบทบาทสำคัญ 2 ประการในการช่วยสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ดังนี้
1) เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับระดับการควบคุมความเสี่ยง
2) สร้างเกณฑ์ในการติดตามความเสี่ยงต่างๆที่องค์ต้องเผชิญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติและทบทวนความเสี่ยงที่มุ่งหวังของบริษัทฯ เป็นประจำ โดยมีการระบุความเสี่ยงที่มุ่งหวังทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพสำหรับความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้กำหนด ช่วงความเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance) ซึ่งเป็นการกำหนดระดับความเสี่ยงย่อยลงมาจากระดับความเสี่ยงที่มุ่งหวังเพื่อกำหนดกรอบในการดำเนินงานให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการโดยต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงที่มุ่งหวัง กิจกรรมหลักอย่างน้อยตามที่สำนักงาน คปภ. กำหนด และ วัตุประสงค์ของบริษัทฯ และเนื่องจากการบริหารเงินกองทุนมีความเชื่อมโยงสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยง จึงได้พิจารณาให้ความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่มุ่งหวังของบริษัท และ ช่วงความเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้
การบริหารความเสี่ยง คือ การบริหารทรัพยากรและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงที่บริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจนั้นสอดคล้องกับความเสี่ยงที่มุ่งหวัง (Risk Appetite) ที่บริษัทได้ตั้งเอาไว้ การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพจะต้องสามารถระบุความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยง ตอบสนองต่อความเสี่ยง และติดตามความเสี่ยงที่ธุรกิจต้องเผชิญได้ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือการบริหารความเสี่ยงควรต้องดำเนินไปให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งบริษัทฯได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงหลักของบริษัทฯ 10 อันดับแรก
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการให้มีการบริหารความเสี่ยงในกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ซึ่งครอบคลุมถึง กิจกรรมหลักตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กำหนดไว้
บริษัทฯมีกระบวนการบริหารความเสี่ยง ดังนี้
1. การระบุความเสี่ยง
การระบุความเสี่ยง เป็นการระบุถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่บริษัทต้องเผชิญ ทั้งความไม่แน่นอนด้านการเงินและความไม่แน่นอนที่ไม่ใช่ด้านการเงิน รวมไปถึงการระบุที่มาของความไม่แน่นอนนั้น
การระบุความเสี่ยงนี้ จะต้องดำเนินการตามวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการระบุความเสี่ยงในกิจกรรมที่สำคัญต่างๆ ของบริษัทอย่างครบถ้วน ความเสี่ยงที่ระบุจะต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอหรือมีการทบทวนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แบ่งประเภทความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
1.1 ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ คือ ความเสี่ยงที่เกิดจาก (1) ความไม่แน่นอนในการเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมมาปฏิบัติ และ (2) ความเสี่ยงของผลกระทบจากความผิดพลาดในการนำกลยุทธ์มาปฏิบัติ จากนโยบายการจัดแบ่งประเภทความเสี่ยง บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ประกอบด้วยความเสี่ยงด้านการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร และ ความเสี่ยงด้านการดำเนินการเชิงกลยุทธ์
ความเสี่ยงด้านการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร
เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการคัดเลือกกลยุทธ์ ความผิดพลาดที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกระบวนการวางแผนงาน ความไม่เหมาะสมของสมมติฐานเบื้องต้น และการตีความที่ผิดพลาดเนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ความเสี่ยงด้านการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่าได้มีการทำวิจัย การวิเคราะห์และการประเมินผลในกระบวนการการวางแผนอย่างครบถ้วน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การแข่งขันในตลาด และสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งลดประสิทธิผลของกลยุทธ์
ความเสี่ยงด้านการดำเนินการเชิงกลยุทธ์
เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงนี้เกิดจากการไม่สามารถนำกลยุทธ์ที่กำหนดไว้มาปฏิบัติให้เกิดผล และความล้มเหลวในการส่งมอบผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ในเชิงคุณภาพ ระยะเวลาและงบประมาณของแผนงานที่มีการตกลงร่วมกันเบื้องต้น
1.2 ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ หมายถึง ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย โดยอาจเกิดขึ้นจาก ความล้มเหลว ความไม่เพียงพอ หรือความไม่เหมาะสมของกระบวนการปฏิบัติงานภายใน บุคคลากร ระบบงาน หรือเหตุปัจจัยภายนอก ซี่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน และ/หรือฐานะทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ไม่รวมถึงความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง
ทั้งนี้รวมถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Risk) ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบหรือการปฏิบัติงานของบริษัทรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber threat) และความเสี่ยงด้านข้อมูล (Data risk)
ทั้งนี้ แม้ว่าในการดำเนินงานของบริษัทจะได้จัดให้มีระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ อัคคีภัย อุทกภัย การก่อเหตุวินาศกรรม และการเกิดโรคระบาด ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะบรรเทาความรุนแรงเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คือ การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าธุรกรรมงานที่สำคัญจะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องหรือกลับมาดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การปฏิบัติงานตามปกติต้องหยุดชะงักลง โดยการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ดีจะช่วยลดผลกระทบในเชิงลบต่อธุรกิจ ผลกระทบด้านกฎหมาย หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
ที่มาของความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ จำแนกออกได้ 4 ประเภท ดังนี้
- ความเสี่ยงจากบุคลากร เป็นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่เกิดจากความล้มเหลว ความไม่เพียงพอ หรือความไม่เหมาะสมของบุคลากรของบริษัทฯ รวมถึงความสามารถและจริยธรรม ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อบริษัทฯ ด้วยเหตุผลหลัก ได้แก่ บุคลากรมีความสามารถไม่เพียงพอ บุคลากรภายในทุจริต และจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน
- ความเสี่ยงจากกระบวนการปฏิบัติงาน เป็นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่เกิดจากความล้มเหลว ความไม่เพียงพอ หรือความไม่เหมาะสมของกระบวนการทำงาน ระบบการควบคุมภายในไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสม นำมาสู่ความเสียหายทั้งในรูปของตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน
- ความเสี่ยงจากระบบงาน เป็นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่ายการติดต่อสื่อสาร เกิดความล้มเหลว ไม่เหมาะสม และไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการบริการลูกค้า เช่น การไม่สามารถกู้ระบบได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมและข้อมูลรั่วไหล
- ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เป็นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่เกิดจากสาเหตุภายนอกบริษัทฯ ได้แก่ การเรียกร้องสินไหมทดแทนด้วยเหตุอันเป็นเท็จ การทุจริตจากบุคคลภายนอก การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ และ ความไม่สงบทางการเมือง เป็นต้น
1.3 ความเสี่ยงด้านประกันภัย
ความเสี่ยงด้านการประกันภัย คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของความถี่ ความรุนแรง และเวลาที่เกิดความเสียหายที่เบี่ยงเบนไปจากสมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และการคำนวณเงินสำรอง
สมมติฐานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ อัตรามรณะ อัตราการขาดอายุกรมธรรม์ อัตราค่าใช้จ่าย และอัตราดอกเบี้ย
1) ความเสี่ยงด้านชีวิตและสุขภาพ
- ความเสี่ยงจากการกำหนดราคาเบี้ยประกันภัย คือ ความเสี่ยงที่ราคาเบี้ยประกันภัยไม่เพียงพอสำหรับภาระผูกพันในอนาคตตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย โดยความเสี่ยงนี้ถูกระบุขึ้นสำหรับแบบประกันที่กำลังจะออกขาย
ความเสี่ยงด้านการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่เหมาะสม หรือบริษัทไม่ทราบถึงรูปแบบกำไรขาดทุนในแต่ละปีตลอดอายุสัญญาประกันภัยของผลิตภัณฑ์ที่ขาย หรือมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นๆ รวมทั้งการเลือกใช้ตัวแบบสำหรับการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผลกระทบนี้อาจทำให้บริษัทฯ เกิดความเสียหายทางการเงินได้
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผลกำไรในปัจจุบัน คือ ความเสี่ยงที่ผลกำไรที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันของแต่ละผลิตภัณฑ์ ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยความเสี่ยงนี้ถูกระบุขึ้นสำหรับแบบประกันที่ขายอยู่ในปัจจุบัน
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผลกำไรในปัจจุบันอาจเกิดขึ้นจากการที่ประสบการณ์จริงไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงลักษณะความเสี่ยงของผู้ถือกรมธรรม์มีความแตกต่างจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ เช่น อายุ เพศ จำนวนเงินเอาประกันภัย เป็นต้น
- ความเสี่ยงด้านการกำหนดเงินสำรอง คือ ความเสี่ยงที่จำนวนเงินสำรองประกันภัยระยะยาว และเงินสำรองประกันภัยระยะสั้นซึ่งแสดงในงบการเงินของบริษัทฯ จะไม่เพียงพอต่อภาระผูกพันที่บริษัทมีต่อผู้ถือกรมธรรม์
- ความเสี่ยงด้านการประกันภัยต่อ คือ ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการทำประกันภัยต่อกับบริษัทรับประกันภัยต่อ อันได้แก่ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของคู่สัญญา และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
2) ความเสี่ยงจากเหตุการณ์มหันตภัย
ความเสี่ยงจากเหตุการณ์มหันตภัย คือ ความเสี่ยงจากการสูญเสีย หรือการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าหนี้สินของบริษัทฯ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ โรคระบาด เป็นต้น
1.4 ความเสี่ยงด้านลงทุน
ประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
- ความเสี่ยงด้านเครดิต
เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการผิดนัดชำระหนี้หรือการเปลี่ยนแปลงความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้ออกหลักทรัพย์ ของลูกหนี้ที่เกิดจากการให้กู้ยืม ให้เช่าซื้อรถ รับอาวัลตั๋วเงิน หรือออกหนังสือค้ำประกันเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของโครงการต่างๆ ของคู่สัญญา หรือของตัวกลางในการทำธุรกรรม (intermediaries) ที่บริษัทมีสถานะการลงทุนอยู่ด้วย ความเสี่ยงด้านเครดิตประกอบด้วย
- ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ คือ ความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่ได้รับ หรือได้รับกระแสเงินสดหรือสินทรัพย์ของบริษัทฯ ล่าช้า หรือได้รับเพียงบางส่วน เนื่องจากผู้ออกหลักทรัพย์ ลูกหนี้ คู่สัญญา หรือตัวกลางในการทำธุรกรรม ที่มีสัญญากับบริษัทฯ ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ ตามสัญญาได้
- ความเสี่ยงจากการกระจุกตัว คือ ความเสี่ยงที่จะมีความสูญเสียเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการกระจุกตัวในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ในภาคเศรษฐกิจ ในคู่สัญญา หรือ ในคู่สัญญาที่มีความเกี่ยวข้องกันมากเกินไป
- ความเสี่ยงด้านตลาด
เป็นความเสี่ยงที่สถานะทางการเงินของบริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจนเกิดความสูญเสีย หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา หรือความผันผวนของราคาตลาดของสินทรัพย์ หนี้สิน และเครื่องมือทางการเงินต่างๆ
ความเสี่ยงดังต่อไปนี้ถือเป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงด้านตลาด
- ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ย ในกรณีที่กระแสเงินสดจากสินทรัพย์และภาระหนี้สินในอนาคตไม่สอดคล้องกัน การเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยสามารถที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทฯ ได้
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าตลาดของตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าตลาดของตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ เช่น ในกรณีที่บริษัทฯ ลงทุนในตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทฯ อาจต้องเผชิญกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าตลาดของสินทรัพย์เหล่านี้ได้
- ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่กระแสเงินสด สินทรัพย์ และหนี้สิน อยู่ในสกุลเงินที่ต่างกัน การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนสามารถส่งผลกระทบในเชิงลบต่อบริษัทฯได้
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าตราสารหนี้ อันเกิดจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกี่ยวเนื่อง คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างของผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (credit spread) จากการเปลี่ยนแปลงในอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้ออกหลักทรัพย์ หรือการคาดการณ์ของตลาดต่อความน่าเชื่อถือของผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ของบริษัทฯ ในรูปแบบของความเสี่ยงด้านตลาดได้
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสามารถแบ่งออกได้เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเกี่ยวกับเงินทุน - ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ คือ ความเสี่ยงซึ่งเกิดจากบริษัทฯ ไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ด้วยราคาที่เหมาะสม โดยอาจเกิดจากตลาดการเงินไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติหรือสินทรัพย์ที่ต้องการขายมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับความลึกของตลาด
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเกี่ยวกับเงินทุน คือ ความเสี่ยงซึ่งเกิดจากบริษัทฯ มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอกับภาระหนี้สินของบริษัท
1.5 การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน
การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินเป็นการบริหารธุรกิจเพื่อให้การตัดสินใจและการปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินมีความสอดคล้องกัน โดยการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินเป็นกระบวนการต่อเนื่องของการกำหนดกลยุทธ์ การดำเนินกลยุทธ์ การติดตามกลยุทธ์ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินเพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินภายใต้ข้อจำกัดด้านความเสี่ยงและข้อจำกัดอื่นๆ ได้
การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินนั้นคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสินทรัพย์และหนี้สิน ทั้งนี้บริษัทฯ ได้กำหนดให้ความเสี่ยงด้านการลงทุนและความเสี่ยงด้านการรับประกันภัยเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน
บริษัทประกันชีวิตมักเผชิญความไม่สอดคล้องกันระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินอันเกิดจากระยะเวลาของภาระผูกพันที่บริษัทมีต่อผู้ถือกรมธรรม์ไม่สัมพันธ์กับอายุของสินทรัพย์ลงทุน ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สินอย่างไรก็ตามบริษัทประกันชีวิตก็ควรนำความเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านตลาดและความเสี่ยงด้านการรับประกันภัยมาพิจารณาร่วมด้วย
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงอันเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการที่สาธารณชนรับรู้ถึงภาพลักษณ์ในเชิงลบ หรือขาดความเชื่อมั่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และ/หรือเงินกองทุนของบริษัททั้งในปัจจุบันและอนาคต ยังเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยเป็นผลกระทบมาจากการเกิดความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น
บริษัทมีการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่อาจนำไปสู่การเกิดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นความเสียหายที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงยากต่อการประเมินโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง และ ผลกระทบจากความเสี่ยงนั้น
2. การประเมินความเสี่ยง
การประเมินความเสี่ยง ประกอบด้วย การเปรียบเทียบระดับความเสี่ยงที่พบระหว่างกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงกับเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงที่ได้กำหนดไว้ แล้วตัดสินใจว่าความเสี่ยงที่พบดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการจัดการหรือไม่ การประเมินความเสี่ยงจะทำให้ได้รายการของความเสี่ยงตามลำดับความสำคัญว่าความเสี่ยงไหนต้องได้รับการแก้ไขก่อนหลัง ดังนั้น ขั้นตอนนี้จะเป็นการกำหนดระดับการตอบสนองที่ต้องการสำหรับแต่ละความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยงใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการประเมินความเสี่ยงตามความเหมาะสมของประเภทความเสี่ยงนั้นๆ
3. การตอบสนองต่อความเสี่ยง
เป็นกระบวนการตอบสนองต่อความเสี่ยงโดยคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่าที่จะได้รับควบคู่กัน โดยทางเลือกในการตอบสนองต่อความเสี่ยง ได้แก่ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง การลดความเสี่ยง การโอนความเสี่ยง และการยอมรับความเสี่ยงอย่างไรก็ตาม การพยายามจัดการทุกความเสี่ยง เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรืออาจเกิดต้นทุนสูงมาก ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องเลือกที่จะจัดการกับความเสี่ยง ลำดับความสำคัญของความเสี่ยง และดำเนินการจัดการความเสี่ยงโดยใช้ทางเลือกในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุดและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่มุ่งหวังและช่วงความเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้
4. การติดตามและทบทวนความเสี่ยง
บริษัทฯ ได้มีการติดตามและทบทวนความเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่มุ่งหวังของบริษัท และอยู่ภายใต้ขีดจำกัดความเสี่ยงทีบริษัทฯ ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ การติดตามและทบทวนความเสี่ยงเป็นกลไกในการรายงานต่อผู้บริหารเพื่อให้รับทราบข้อมูลและแน่ใจว่าได้มีการควบคุมอย่างเหมาะสม
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)ได้นำเครื่องมือและเทคนิคต่างๆ มาใช้ในกระบวนการบริหารความเสี่ยง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1) การประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้วยตนเอง
การประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้วยตนเองเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงจากผู้ที่เป็นเจ้าของความเสี่ยงเพื่อระบุความเสี่ยงและประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงใดๆ จุดประสงค์หลักของการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้วยตนเอง คือ เพื่อให้มีการทบทวนถึงสาเหตุของความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างตรงจุด
2) ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงที่สำคัญ
เป็นตัวชี้วัดหรือเครื่องมือที่ทำหน้าที่เตือนภัยล่วงหน้า ที่แสดงให้ทราบถึงระดับความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ ซึ่งตัวชี้วัดความเสี่ยงที่ดีนั้น นอกจากจะสะท้อนให้บริษัทเห็นถึงความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา (Lagging Indicators) ยังสามารถบ่งชี้ถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Leading Indicators) จากระดับความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยงได้อีกด้วย การมีดัชนีชี้วัดความเสี่ยงที่ดีจะสามารถช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัว และป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเหล่านั้นเกิดขึ้น
3) ข้อมูลความเสียหาย
ข้อมูลความเสียหาย (Loss Event Data) เป็นข้อมูลแสดงรายละเอียดความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลความเสียหายที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถวิเคราะห์ และติดตามความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการจัดเก็บข้อมูลความเสียหายนั้น ควรมีรายละเอียดเบื้องต้นครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ เหตุการณ์ความเสียหาย ประเภท สาเหตุ มูลค่าความเสียหาย ผลกระทบ ระดับความรุนแรง หน่วยงานที่รับผิดชอบ และแนวทางการควบคุมหรือลดความเสี่ยง
4) การทดสอบกำไร
เป็นแนวคิดสมัยใหม่ของการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่นำเทคนิคกระแสเงินสดมาใช้ โดยทั่วไปการทดสอบกำไรจะให้ค่าคาดการณ์กำไรของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ภายใต้สมมติฐานของอัตราเบี้ยประกันภัย ซึ่งการทดสอบกำไรนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้ผลิตภัณฑ์มีผลกำไรอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้
5) การวิเคราะห์ประสบการณ์
เป็นเทคนิคที่นำข้อมูลต่างๆ เช่น การตาย การขาดอายุ และ ค่าใช้จ่าย จากประสบการณ์ในอดีตของบริษัท มาใช้วิเคราะห์เพื่อคาดการณ์มูลค่าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัท
6) การทดสอบภาวะวิกฤต
เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการจัดการประกันภัย โดยถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของกรอบการจัดการความเสี่ยงโดยรวม และการพิจารณาความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัท การทดสอบภาวะวิกฤตจะช่วยให้บริษัททราบถึงความเสี่ยงหลักที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่และระดับของความเสี่ยงที่บริษัทสามารถรับได้ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประกันภัยตัดสินใจได้ว่ามีสิ่งใดที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อที่จะไม่แบกรับความเสี่ยงมากจนเกินไป บริษัทฯได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและระดับความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทในการทดสอบภาวะวิกฤต
บริษัทฯมีการทดสอบและรายงานผลการทดสอบภาวะวิกฤตแก่คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ โดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอาจขอให้ทดสอบภาวะวิกฤตในสถานการณ์อื่นๆตามที่คณะกรรมการได้ระบุเพิ่มเติม
7) การวิเคราะห์ความอ่อนไหว
เป็นเทคนิคเพื่อดูว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรอิสระ (Independent Variable) ส่งผลกระทบต่อตัวแปรตาม (Dependent Variable) อย่างไร ภายใต้สมมติฐานที่กำหนด
8) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิต
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เอสแอนด์พี มูดี้ส์ หรือ ฟิทช์ เรทติ้ง สามารถนำไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตและนำไปใช้ในการประเมินความน่าจะเป็นในการผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังนั้น เมื่อบริษัทจะต้องเข้าไปดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องมีการนำอันดับความน่าเชื่อถือทางเครดิตมาพิจารณาร่วมด้วย
9) การรายงานกระแสเงินสด
ได้มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินสดของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการปฏิบัติตามภาระผูกพันและกฎระเบียบที่มีอยู่
10) Duration and Duration Gap
ในทางเทคนิค Duration คือ ค่าความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย เป็นค่าของอนุพันธ์ลำดับที่หนึ่งของมูลค่าตราสารหนี้ต่อการเปลี่ยนแปลงแบบขนานของเส้นอัตราผลตอบแทน หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นวิธีการวัดค่าความเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตราสารหนี้เมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
Duration Gap เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามและประเมินความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สิน โดยคำนวณจากความแตกต่างระหว่าง duration ของสินทรัพย์และหนี้สิน
11) มูลค่าความเสี่ยง
มูลค่าความเสี่ยงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ในการวัดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดย VaR ใช้คำนวณความเสี่ยงแต่ละประเภท เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารทุน ความเสี่ยงด้านเครดิต เป็นต้น รวมไปถึงใช้คำนวณความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอก็ได้ ซึ่ง VaR คือ มูลค่าของความสูญเสียที่มากที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้ช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ โดยมีความน่าจะเป็นน้อยมากที่จะเกิดความสูญเสียที่เกินกว่ามูลค่าที่คำนวณได้ โดยค่าของความน่าจะเป็นดังกล่าวจะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งในการคำนวณ VaR การกำหนดช่วงระยะเวลาและความน่าจะเป็นสำหรับแบบจำลองจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการคำนวณ
บริษัทฯ ได้ดำเนินการให้มีโครงสร้างการกำกับดูแลความเสี่ยงของบริษัทฯ ที่เหมาะสม โดยมีการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และลำดับขั้นการรายงานอย่างชัดเจน ซึ่งสนับสนุนต่อการสร้างวัฒนธรรมการตระหนักถึงความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรซึ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลความเสี่ยงของบริษัทฯ เป็นไปดังต่อไปนี้
1) คณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำ มีบทบาทสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยเป็นผู้วางกลยุทธ์และนโยบายที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหมายความถึงความเจริญเติบโตขององค์กร การเพิ่มมูลค่าในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น และความรับผิดชอบต่อผู้ถือกรมธรรม์ นอกจากนี้ คณะกรรมการจะต้องมีวิสัยทัศน์และมีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์ด้านธุรกิจ และยังมีบทบาทหน้าที่ในการสอดส่องดูแลการดำเนินกิจการของบริษัทประกันภัยให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และธรรมาภิบาลด้วย
คณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทอาจมอบหมายให้คณะกรรมการต่างๆ ปฏิบัติงานแทนเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะต้องมีการรายงานข้อมูลต่างๆ ให้คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการต่างๆ รับทราบอย่างทันท่วงที มีความเหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการต่างๆ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบสูงสุดที่จะต้องดำเนินการให้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีความครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ มีหน้าที่อนุมัติและทบทวนแผนธุรกิจ กรอบการบริหารความเสี่ยง นโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ รวมถึงนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความเสี่ยง เช่น นโยบายการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่น และความเสี่ยงที่มุ่งหวัง (Risk Appetite) ตลอดจนดูแลให้บริษัทฯ มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงในกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมรวมถึงสอดคล้องกับประกาศและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดำเนินการให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่กำกับดูแลให้การกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจมีความเชื่อมโยงกับกรอบการบริหารความเสี่ยงและความเสี่ยงที่มุ่งหวัง รวมถึงคำนึงถึงความเพียงพอของเงินกองทุนและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีวาระการประชุมอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง
2) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่ดูแลความเสี่ยงทั้งหมดของบริษัท และดำเนินการให้มั่นใจว่าบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงของบริษัท คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง และมีหน้าที่สนับสนุนให้มีการระบุ ประเมิน ตอบสนอง ติดตามและรายงานความเสี่ยงในองค์กรต่างๆ ให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ และในกรณีที่ฉุกเฉิน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องจัดให้มีแผนการบรรเทาความเสี่ยง รวมถึงมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีวาระการประชุมเป็นประจำอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
3) คณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่สอบทานและประเมินผลให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน และระบบบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม มีประสิทธิผล และรัดกุม ตามกรอบที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการตรวจสอบมีวาระการประชุมเป็นประจำอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
4) คณะกรรมการบริหารด้านการลงทุน
คณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารด้านการลงทุนโดยมีหน้าที่ในการกำหนดและนำเสนอนโยบายการลงทุน นโยบายการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แนวทางปฏิบัติการจัดการลงทุน และระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนประจำปีของบริษัทต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ
คณะกรรมการบริหารด้านการลงทุนเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนกำกับดูแลการลงทุน การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบายของบริษัท และนโยบายบริหารความเสี่ยงรวม พิจารณาและนำเสนอเป้าหมายและผลตอบแทนการลงทุนเพื่อบรรจุในแผนงบประมาณของบริษัทซึ่งอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท รวมถึงประเมินผลการลงทุนและรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ คณะกรรมการลงทุนยังกำกับดูแลในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการลงทุนและการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท รวมทั้งดูแล ระบบงาน บุคคลากรและข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้มีความเพียงพอต่อการดำเนินงาน
5) คณะกรรมการผลิตภัณฑ์
คณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ โดยคณะกรรมการผลิตภัณฑ์มีหน้าที่ดูแลให้การกำหนดราคาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯมีความเหมาะสม
คณะกรรมการผลิตภัณฑ์มีหน้าที่พิจารณาการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันตามสถานการณ์ของตลาด
คณะกรรมการผลิตภัณฑ์มีหน้าที่กำกับดูแลถึงความถูกต้องเหมาะสมของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้บริษัทฯ มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ และเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน คปภ.
คณะกรรมการผลิตภัณฑ์มีวาระการประชุมเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
6) คณะอำนวยการบริหาร
คณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แต่งตั้งคณะอำนวยการบริหาร โดยมีตำแหน่งเสมือนหนึ่งคณะกรรมการบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายจัดการ
นอกเหนือจากเรื่องอื่นที่คณะกรรมการบริษัทอาจมอบหมายให้ทำ คณะอำนวยการบริหารได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการบริษัทในการให้ความร่วมมือกับฝ่ายจัดการเกี่ยวกับการดำเนินงานประจำวันทุกๆ ด้านของบริษัท และให้ความร่วมมือกับฝ่ายจัดการในการดำเนินการตามแผนธุรกิจและงบประมาณของฝ่ายจัดการ พิจารณาเรื่องที่คณะอำนวยการบริหารได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท พิจารณาเรื่องที่เป็นการดำเนินกิจการอันเป็นปกติที่ฝ่ายจัดการโอนเรื่องให้แก่คณะอำนวยการบริหาร รวมถึงพิจารณาเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เป็นการดำเนินกิจการอันเป็นปกติ และ/หรืออยู่นอกเหนือขอบข่ายของแผนธุรกิจและงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงิน และความสามารถในการทำกำไร หรือชื่อเสียงของบริษัท
คณะอำนวยการบริหารมีวาระการประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกๆ สองสัปดาห์
7) คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน
ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินขึ้นเพื่อเป็นคณะกรรมการของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกในคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน
คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินจะต้องดูแลให้มั่นใจว่าสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทฯ มีการบริหารอย่างเหมาะสมและมีความสอดคล้องกัน คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ภายใต้ข้อจำกัดด้านความเสี่ยงที่มีอยู่ คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินสนับสนุนให้มีการสื่อสารและการให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสายงานลงทุนและสายงานคณิตศาสตร์ และทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความชัดเจนในสายการบังคับบัญชาและหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับการบริหารความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และหนี้สิน
คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินจะมีการประชุมอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
8) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการมีหน้าที่กำกับดูแล ทบทวน นโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนกระบวนการบริหารความเสี่ยง เพื่อจัดการกับความไม่เพียงพอหรือความผิดพลาดของกระบวนการปฏิบัติงานภายใน คน ระบบงาน และ/หรือเหตุการณ์ภายนอก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงทบทวนนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Risk Management Policy) เพื่อให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลของบริษัทมีความปลอดภัยและสามารถป้องกันความเสียหายได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งทบทวนนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คณะกรรมการมีหน้าที่ให้คำปรึกษา พิจารณา อนุมัติ ติดตามความคืบหน้าในการกำหนดแนวทางและพัฒนาระบบงานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กรรวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานชุดต่างๆ ตามที่เห็นสมควร
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการมีวาระการประชุมอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
9) สายงานบริหารความเสี่ยงองค์กร
สายงานบริหารความเสี่ยงองค์กรมีหน้าที่ในการระบุความเสี่ยง ตลอดจนวิเคราะห์ ประเมิน จัดการและติดตามความเสี่ยงของบริษัทฯ และจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมรวมถึงสอดคล้องกับประกาศและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
สายงานบริหารความเสี่ยงองค์กรมีหน้าที่ในการประสานงานกับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงเข้าร่วมในการประชุมอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรหรือเป็นที่ปรึกษาให้กับฝ่ายงานหรือคณะกรรมอื่นๆ ตามที่ร้องขอ หรือเมื่อสายงานบริหารความเสี่ยงองค์กรเห็นว่ามีความจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
10) ผู้บริหารและพนักงานทุกคน
ทุกคนในองค์กรมีส่วนรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ กรอบการบริหารความเสี่ยง รวมถึง ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัท ดำเนินการตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงและมีการรายงานการบริหารความเสี่ยงได้ครบถ้วนตามที่กฏหมายและนโยบายบริหารความเสี่ยงกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารต้องทำให้มั่นใจว่าบุคลากรมีความเข้าใจในกระบวนการบริหารความเสี่ยงและนำไปใช้ปฏิบัติงานได้จริง
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงขึ้นภายในองค์กร โดยมีการกำหนดทิศทางการบริหารความเสี่ยงตามกรอบการบริหารความเสี่ยงและนโยบายบริหารความเสี่ยง รวมถึงนโยบายควบคุมความเสี่ยงตามหน่วยธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องและมีการสื่อสารนโยบายดังกล่าวไปยังพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการบริหารความเสี่ยง
นอกจากนี้ยังจัดให้มีการจัดอบรมพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีความระมัดระวัง และตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องต่องานที่ตนรับผิดชอบ ต่อองค์กร และ/หรือต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆภายในองค์กร
บริษัทฯ มีการบูรณาการการบริหารความเสี่ยงเข้ากับกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ รวมถึงการกำกับดูแลกิจการและการควบคุมภายใน
นโยบายด้านอื่น ๆ