วิธีไล่ลมในท้อง ท้องอืด แก้ยังไง ปรับพฤติกรรมก่อนเป็นกรดไหลย้อน
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอกับอาการปวดท้องจากแก๊สในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและอาจสร้างความไม่สบายตัวและความน่ารำคาญใจให้กับคุณ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยหรือมีอาการรุนแรง ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับสาเหตุ อาการ และวิธีไล่ลมในท้องเพื่อให้คุณสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้อย่างถูกวิธี
ยาวไปเลือกอ่านตามหัวข้อได้นะ
1. สาเหตุของลมในท้อง ท้องอืด แก๊สในกระเพาะอาหาร
2. วิธีไล่ลมในท้อง และวิธีแก้ท้องอืด
3. ปัญหาลมในท้อง ท้องอืด แบบไหนที่เข้าขั้นเสี่ยงอันตราย
1. สาเหตุของลมในท้อง ท้องอืด แก๊สในกระเพาะอาหาร
การปวดท้องเพราะแก๊สในกระเพาะ ลมในท้อง หรือมีอาการท้องอืด มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายมีปริมาณแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มากเกินไป ร่างกายจึงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ต้องการระบายปริมาณแก๊สส่วนเกินนั้นออกจากร่างกาย โดยสามารถไล่ลมในท้องด้วยตัวเองได้ผ่านการเรอออกทางปาก หรือการผายลมให้แก๊สนั้นถูกระบายออกผ่านลำไส้ โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้มีลมในท้องนั่นก็คือ
การกลืนอากาศ
อากาศที่ถูกกลืนเข้าไปพร้อมกับการทานอาหาร การดื่มน้ำ การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือขณะที่สูบบุหรี่ ซึ่งโดยส่วนมากจะเผลอกลืนอากาศเข้าไปอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ในบางวันที่มีการกลืนอากาศเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าเดิม อาจทำให้รู้สึกว่าไม่สบายตัว และต้องการหาวิธีไล่ลมในท้อง
กระบวนการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์
ในบางคนที่มีการรับประทานอาหารที่ร่างกายไม่คุ้นชิน หรือรับประทานอาหารด้วยความเร็วเกินไป อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะท้องอืดจากการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ได้ คือร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารจำพวกน้ำตาล, แป้ง, Fiber จากอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ เมื่ออาหารเคลื่อนตัวจากลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ก็เกิดกระบวนการย่อยสลายอาหารโดยแบคทีเรีย และกลายเป็นแก๊สในกระเพาะอาหาร
โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังบางอย่าง
คนที่มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคไทรอยด์, เบาหวาน บางคนอาจเจอกับอาการท้องอืดอันเนื่องมาจากภาวะอาหารไม่ย่อย จากผลข้างเคียงของโรคดังกล่าว ที่อาจก่อให้เกิดการทำงานผิดปกติขึ้นในลำไส้
ยาบางชนิด
การรับประทานยาบางชนิดที่อาจส่งผลให้กระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง เช่น ยานอนหลับ, ยาคลายเครียด หรือยาปฏิชีวนะบางตัว หากมีความจำเป็นต้องทานยาเหล่านี้ แนะนำให้ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และระมัดระวังขณะใช้ยา
2. วิธีไล่ลมในท้อง และวิธีแก้ท้องอืด
ใครที่มีปัญหาท้องอืด แก๊สในกระเพาะ และกำลังมองหาวิธีไล่ลมในท้องด้วยตัวเอง วันนี้แอดนำเอาวิธีง่าย ๆ มาฝากกันแล้ว ลองอ่านแล้วนำไปทำตามกันได้เลย
นวดไล่ลมในท้อง
เป็นวิธีไล่ลมในท้องแบบเบื้องต้น สำหรับคนที่อาการไม่รุนแรง โดยการนวดไล่ลมในท้องจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ให้ช่วยไล่ลมให้ออกจากร่างกายได้ไวขึ้น โดยนวดเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาที่บริเวณหน้าท้อง เริ่มที่บริเวณกระดูกเชิงกราน แล้วค่อย ๆ วนขึ้นไปที่บริเวณใต้ซี่โครง แล้ววนรอบสะดือตามเข็มนาฬิกา นวดช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 5-10 นาที วิธีนี้อาจมีส่วนช่วยไล่ลมในท้องให้ออกมาเร็วขึ้น
หลีกเลี่ยงการทานอาหารบางชนิด
อาหารจำพวกที่มีไขมันสูง, ถั่ว, ผักตระกูลกะหล่ำ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ชา-กาแฟ และอาหารขยะ เป็นอาหารกลุ่มที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดกรดและแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น จึงอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
ทานอาหารแต่พอดี
รับประทานอาหารแต่พอดีและเคี้ยวให้ละเอียด เพราะการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หรือเร่งรีบเกินไปเพราะความหิว ล้วนแต่ก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง หากทานหนัก ๆ ในมื้อเย็น ก็อาจส่งผลกระทบไปถึงเวลานอน และเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนได้
ลดการพูดคุยขณะทานอาหาร
การพูดคุยขณะรับประทานอาหารอาจช่วยผ่อนคลายอารมณ์ได้ แต่การคุยไปกินไป อาจทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากกว่าเดิม และส่งผลให้มีอาการท้องอืดตามมาภายหลังได้ แนะนำว่าให้กลืนอาหารให้เรียบร้อยก่อนจึงค่อยพูดคุยกัน เมื่อต้องเคี้ยวอาหารก็หยุดการพูดคุยไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงอาหารติดคออีกด้วย
ปรับท่านั่งรับประทานอาหาร
การจัดท่านั่งรับประทานอาหารที่ถูกหลัก ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีไล่ลมในท้องแบบทางอ้อม และยังช่วยลดความเสี่ยงปวดท้องหลังมื้ออาหาร โดยแนะนำให้นั่งหลังตรง พยายามไม่ก้มงอตัวขณะรับประทานอาหาร และเมื่อรับประทานเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งเอนตัวนอน รอให้อาหารย่อยสัก 30 นาทีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกรดไหลย้อน
ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร
อาการแก๊สในกระเพาะอาหาร มักพบบ่อยในคนที่ชอบทานอาหารขยะ, ชอบปาร์ตี้ หรือชอบทานมื้อดึก แนะนำว่าให้ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ มีใยอาหาร, ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ทานอาหารมื้อดึก จะช่วยลดความเสี่ยงท้องอืด และลดความเสี่ยงการเกิดกรดไหลย้อน เพราะบางครั้งแค่รู้วิธีไล่ลมในท้อง อาจไม่พอ
3. ปัญหาลมในท้อง ท้องอืด แบบไหนที่เข้าขั้นเสี่ยงอันตราย
สำหรับใครที่กำลังมีปัญหาท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะเยอะ หรือกำลังปวดท้อง นอกจากจะหาวิธีแก้ท้องอืด หรือวิธีไล่ลมในท้องแล้ว อย่าลืมสังเกตตัวเองเพิ่มเติมด้วยว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงเจอปัญหาสุขภาพ แต่ถ้ารู้ตัวเร็วก็สามารถปรึกษาแพทย์และรักษาได้ทัน
รู้สึกเจ็บบริเวณซี่โครง
เมื่อใช้วิธีไล่ลมในท้องด้วยการเรอระบายแก๊สในกระเพาะอาหาร แล้วรู้สึกเจ็บร้าวบริเวณซี่โครง หรือบริเวณหน้าท้อง อาจเป็นสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติบางอย่างของอวัยวะในช่องท้อง หากเป็นมากกว่า 1 ครั้ง และรู้สึกเจ็บมากขึ้น แนะนำให้รีบพบแพทย์
อาเจียน
เมื่อรู้สึกท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร แล้วตามมาด้วยการอาเจียนแบบกะทันหันจนควบคุมไม่ทัน อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลำไส้มีปัญหาบางอย่าง จนเป็นอุปสรรคในการย่อยอาหาร เสี่ยงเกิดหลายโรค เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ, ติดเชื้อในลำไส้ หรืออาจเป็นมะเร็งลำไส้
ระบบขับถ่ายไม่ปกติ
บางคนอาจเจอกับปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อย จึงมองหาวิธีแก้ท้องอืด และวิธีไล่ลมในท้องด้วยตัวเอง เพื่อแก้ไขเบื้องต้นก่อน แต่ก็ยังเจอกับปัญหาระบบขับถ่ายไม่ปกติที่เป็นมาเรื่อย ๆ เช่น เรอ-ผายลมบ่อยกว่าปกติ, ท้องเสียบ่อย, ขับถ่ายออกไม่หมด, ท้องผูก อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณอาจเจอกับภาวะลำไส้แปรปรวน หรือแพ้อาหารบางอย่าง
ท้องบวม
แม้ว่าจะนวดไล่ลมในท้องออกไปแล้ว แต่ก็ยังพบว่าอาการท้องบวมยังคงอยู่ อาจมาจากการท้องอืดที่ยังคงอยู่และปริมาณอาหารที่อยู่ระหว่างการย่อย ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการรุนแรง แต่ถ้าพบว่ามีอาการท้องบวมร่วมกับอาเจียนด้วย แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ
การปรับพฤติกรรมการทานอาหารเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน ท้องอืด แก๊สในกระเพาะ รวมทั้งอาการอื่น ๆ ที่เกิดกับระบบย่อยอาหาร หากสามารถปรับพฤติกรรมเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าใจวิธีไล่ลมในท้องอย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงของกรดไหลย้อน แต่ยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย
ดูแลสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีแล้ว อย่าลืมเลือกความคุ้มครองดี ๆ ช่วยดูแลเพิ่มด้วย กับ ประกันสุขภาพ ตัวช่วยเติมความอุ่นใจ ให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่และสนุกกับกิจกรรมในทุก ๆ วัน
รายละเอียดเพิ่มเติม
☑️ โทร.1766 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
☑️ ติดต่อตัวแทนประกันชีวิต
โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ที่มา สืบค้น ณ วันที่ 24/02/2568