1. หลักการและเหตุผล
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตามหลักการกำกับ ดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ จึงได้จัดทำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันฉบับนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ห้ามการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตัวแทน นายหน้า ตลอดจนบุคคลที่สามที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ต่อบริษัทฯ หรือต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก บริษัทฯ ไม่ยอมรับการคอร์รัปชันใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนโยบายนี้ครอบคลุมถึงธุรกิจและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายการทั้งหมดในทุกประเทศ พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดขั้นตอนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างละเอียด เพื่อให้ การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายนี้ บริษัทฯ จะสอบทานขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับ การประกอบธุรกิจและเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้โดยทั่วกัน
2.1 คอร์รัปชัน หมายถึง การกระทำทุจริตโดยการให้ หรือรับว่าจะให้สินบน หรือ การเรียกรับ หรือยอมจะรับ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ ของกำนัล หรือบริการ เงินสดหรือสิ่งของแทนเงินสด ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด รวมถึงการกระทำพฤติกรรมใดๆ ที่ส่อไปในทางคอร์รัปชัน แก่ เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลใดก็ตามที่ทำธุรกิจกับบริษัทฯ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวใช้อำนาจไปในทางมิชอบ จูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำ อันมิชอบ ด้วยหน้าที่ โดยให้ได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดหรือรักษาไว้ ซึ่งประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ยกเว้นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าอนุญาตให้กระทำได้
2.2 ของขวัญ ของกำนัล หมายถึง สิ่งของหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่มีมูลค่าทางการเงิน สิ่งที่ใช้แทนเงินสด เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือการบริการตามธรรมเนียมประเพณี โดยให้เป็นสินน้ำใจ หรือเงินทอน เพื่อเป็นการจูงใจ ให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิพิเศษในการดำเนินงาน อาจเชื่อมโยงไปเกี่ยวข้องกับการให้สินบน
2.3 สินบน สินน้ำใจ เงินทอน หรือค่าบริการต้อนรับ หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน การเลี้ยงรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวก หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ให้เพื่อให้กระทำการ หรือละเว้นไม่กระทำการตามที่ผู้จ่ายเงินต้องการ รวมถึงการกระทำในรูปแบบใดๆ ที่เป็นการเสนอการให้สัญญา การมอบให้ การยอมรับ การเรียกร้องที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการจูงใจให้มีการปฏิบัติใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ
2.4 ค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง และการได้รับการบริการสาธารณะ
2.5 การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การให้หรือรับ เงินสด สิ่งของ สินค้า บริการ หรือประโยชน์อื่นใดๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน โดยบุคคลหรือนิติบุคคล หรือผ่านองค์กร เพื่อการกุศลและหรือเพื่อสงเคราะห์เหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
2.6 เงินสนับสนุน หมายถึง เงินที่จ่ายให้หรือได้รับ สิ่งของที่ให้หรือได้รับ หรือผลตอบแทนที่ให้หรือได้รับ ซึ่งอาจคำนวณได้เป็นตัวเงินจากลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท เป็นประโยชน์ในการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และให้ในโอกาสที่เหมาะสม
2.7 การจัดจ้างพนักงานรัฐ หมายถึง การว่าจ้างบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งหมายความถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ
2.8 การสนับสนุนทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่อช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
3.1 คณะกรรมการบริษัท
• อนุมัตินโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชัน
• สนับสนุนและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน และปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
• ทบทวนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน และแนวปฏิบัติเป็นประจำทุกปี
3.2 คณะกรรมการตรวจสอบ
• สอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ระบบงานตรวจสอบภายใน
และระบบ บริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
• กำกับดูแลความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบอย่างสม่ำเสมอ
• ให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายบริหารเพื่อการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำดังต่อไปนี้
(1) รายการที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(2) การทุจริต มีสิ่งผิดปกติ หรือมีความบกพร่องที่สำคัญในระบบการควบคุมภายใน
(3) การฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
(4) การฉ้อฉล หรือการกระทำใดๆ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน
หรือชื่อเสียงของบริษัท
3.3 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหาร
• ยึดถือนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงาน
• กำหนดให้ทุกฝ่ายงานและพนักงานทุกคนนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด
• แต่งตั้งคณะทำงานตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
• กำกับดูแล ให้มีระบบสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
3.4 คณะทำงานตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
• กำกับดูแลให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตัวแทนและนายหน้า ตลอดจนบุคคลที่สามที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
• สื่อสารให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ได้รับทราบว่า บริษัทฯ มีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและบริษัทฯ เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านการคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย
• ประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันของบริษัทฯ พร้อมทั้งกำกับดูแลความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการคอร์รัปชันให้เพียงพอ และเหมาะสม
• วางแนวทางในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
3.5 พนักงานของบริษัทฯ
• พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยทั่วกัน ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบการกระทำที่อาจเป็นการฝ่าฝืนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยบริษัทฯได้กำหนดนโยบายการรับแจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน เพื่อให้พนักงานสามารถแจ้งข้อมูลการกระทำความผิด หรือ ข้อร้องเรียน ด้วยเจตนาสุจริต ได้หลายช่องทางตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ โดยรายชื่อของผู้แจ้งข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับและได้รับการคุ้มครองให้มีความปลอดภัยทั้งระหว่างการดำเนินการสอบสวนและหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร หรือบุคคล ที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ การติดตามการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัทฯ กำหนดไว้
4.1 กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัทฯ ทุกระดับ รวมถึงบุคคล หรือ นิติบุคคลอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานแทนหรือทำในนามบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชัน ไม่ว่าโดยทางตรง หรือ ทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงธุรกิจและรายการทั้งหมดในทุกประเทศ เช่น การให้ การรับสินบน ทุกรูปแบบ เป็นต้น
4.2 บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมทั้งสื่อสารให้ทราบถึงนโยบายการรับแจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน
4.3 บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าการคอร์รัปชัน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน
4.4 บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคลากรที่ปฏิเสธ หรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้อง กับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูลหรือผู้ร้องเรียน พยานและบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนข้อเท็จจริงตามที่บริษัทฯ กำหนด
4.5 ผู้ที่กระทำการคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นการกระทำผิดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ กำหนดไว้
บริษัทฯ กำหนดมาตราการในการป้องกันการกระทำทุจริต สำหรับรายการที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน โดยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลที่สาม ที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน นโยบายงดรับของขวัญ นโยบายการรับแจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน นโยบายการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระเบียบ และคู่มือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทฯ กำหนดขึ้น ดังต่อไปนี้
5.1 ของขวัญ ของกำนัล การบริการต้อนรับ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
• พนักงานสามารถให้ของขวัญ ของกำนัล การบริการต้อนรับ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ตามธรรมเนียมประเพณี หรือตามมารยาททางสังคมที่ปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความโปร่งใส สอดคล้องกับคู่มือจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจและเป็นไปตามกฎหมาย
• พนักงานต้องไม่เรียกรับของขวัญ ของกำนัล การบริการต้อนรับ การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามปกติ โดยให้มีการปฏิบัติตามนโยบายงดรับของขวัญของกำนัล กรณีพนักงานไม่สามารถปฏิเสธการรับของขวัญ ของกำนัล การบริการต้อนรับหรือการเลี้ยงรับรองได้ จะต้องแจ้งให้ผู้บริหารทราบ พร้อมบันทึกและจัดเก็บข้อมูลไว้
5.2 การบริจาคเพื่อการกุศล เงินสนับสนุน
บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรการกุศล มูลนิธิ บริษัท ห้างร้าน ที่บริษัทฯ จะเข้าร่วมบริจาค และ/หรือ มอบเงินสนับสนุน โดยต้องมั่นใจว่าการบริจาคและเงินสนับสนุนจะไม่ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการให้สินบน และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยต้องระบุชื่อผู้รับบริจาคและ/หรือผู้รับการสนับสนุน และพิสูจน์ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง และ/หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานของบริษัทฯ
5.3 ค่าอำนวยความสะดวก
บริษัทฯ ไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในรูปทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เนื่องจากการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มิชอบด้วยกฎหมาย
5.4 การสนับสนุนทางการเมือง
• บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจและมีนโยบายพื้นฐานในการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยจะไม่ให้การสนับสนุนทรัพยากรใดๆ ของบริษัทฯ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิประโยชน์อื่นใด เพื่อช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนการสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม
• บริษัทฯ ให้ความเคารพในสิทธิทางการเมืองของพนักงานในฐานะพลเมืองที่ดีตามรัฐธรรมนูญ และได้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานบริษัทฯ โดยไม่อนุญาตให้พนักงานนำสิ่งอำนวยความสะดวก หรือทรัพยากรของบริษัทฯ ไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง หรือเพื่อจุดประสงค์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ และห้ามมิให้พนักงานในทุกระดับชั้น สั่งการ หรือโน้มน้าวด้วยวิธีการใดๆ ที่ทำให้พนักงานและผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท ยกเว้นในกรณีที่การให้ความสนับสนุนนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และสนับสนุนประชาธิปไตยโดยรวม
5.5 การจัดจ้างพนักงานรัฐ
• การว่าจ้างหรือจัดจ้างพนักงานรัฐ จะพิจารณาตามความเหมาะสม ตามกระบวนการที่บริษัทกำหนดและคำนึงถึงการไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทับซ้อนหรือก่อให้เกิดช่องทางการทุจริตคอร์รัปชันได้
• การว่าจ้างหรือจัดจ้างพนักงานรัฐ กำหนดเงื่อนเวลาโดยพนักงานรัฐต้องพ้นจากสถานภาพแล้ว ก่อนวันที่สมัครเป็นพนักงานของบริษัทฯ
5.6 การบริหารทรัพยากรบุคคล
บริษัทฯ มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการ
สรรหาหรือคัดเลือกบุคลากรที่ไม่มีประวัติการกระทำผิดหรือได้รับโทษในความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชันเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง การประเมินผลการปฏิบัติงานและการให้ค่าตอบแทนพนักงาน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังจัดให้มีการอบรมพนักงานเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยให้มีการดำเนินการปฐมนิเทศให้กับพนักงานใหม่ และมีการอบรมทดสอบความรู้แก่พนักงานของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กร
5.7 การจัดการควบคุมภายใน
บริษัทฯ มีการกำหนดการควบคุมภายใน เกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงิน กระบวนการทางบัญชี และการจัดเก็บเอกสาร หลักฐานทางการเงิน และข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตามแผนงานที่กำหนด โดยจัดให้มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและสอดคล้องตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
5.8 การสื่อสารนโยบาย การรายงานข้อมูล
บริษัทฯ มุ่งเน้นความสำคัญในการสื่อสารนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นอย่างยิ่ง จึงกำหนดให้มีการสื่อสารทั้งภายใน และภายนอกไปยังพนักงานของบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ตัวแทน
คู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มและผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจได้รับทราบ ผ่านทางจดหมายสื่อประชาสัมพันธ์ วิดีทัศน์ Intranet และเว็บไซต์บริษัทฯ
กรณีผู้บริหาร และพนักงาน ต้องการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ หรือขอคำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน ให้ดำเนินการติดต่อฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
7.1 ไปรษณีย์:
ฝ่ายตรวจสอบภายใน บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่)
250 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
7.2 โทรศัพท์ หมายเลข 02-290-2744, 02-290-2547, 02-274-9400 กด 2744 หรือ 2547
7.3 อีเมล [email protected] หรือ [email protected]
7.4 ระบบ Intranet สำหรับพนักงาน บน Muangthailink (Comments & Suggestion)
บริษัทฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนการคอร์รัปชันทำหน้าที่ในการพิจารณาข้อมูลหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันของบริษัทฯ โดยให้มีการดำเนินการตรวจสอบ วิเคราะห์หาสาเหตุและกำหนดแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการแก้ไขและพิจารณาลงโทษต่อผู้กระทำผิด และรายงานผลการพิจารณาข้อร้องเรียน พร้อมเสนอแนะบทลงโทษต่อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อสั่งดำเนินการต่อไป
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ร้องเรียน ผู้ให้ข้อมูลที่กระทำโดยเจตนาสุจริต และพนักงานผู้ปฏิเสธ การคอร์รัปชัน จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้
9.1 บริษัทฯ จะปกปิดชื่อที่อยู่ หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถระบุตัวผู้แจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน และเก็บรักษาข้อมูลของผู้แจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียนไว้เป็นความลับ โดยจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
9.2 ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน คณะกรรมการจะทำหน้าที่คุ้มครองผู้แจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนข้อเท็จจริง ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตราย ความไม่ชอบธรรมอันเกิดจากการแจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน เป็นพยาน หรือการให้ข้อมูล
9.3 บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดอันไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียน หรือพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน พักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งข้อมูลหรือข้อร้องเรียนหรือผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน
นโยบายฉบับนี้ถือเป็นนโยบายหลักที่ให้อำนาจกับคณะทำงานตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันในการเสนอออกคู่มือหรือแนวทางในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน้าที่ ทบทวน และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน
กำหนดให้คณะทำงานฯ ต้องทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ
บริษัทฯ กำหนดให้การปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันฉบับนี้เป็นวินัยอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตัวแทน นายหน้า ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันนี้จะต้องได้รับโทษตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ หรืออาจได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด หากการกระทำนั้นผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
นโยบายด้านอื่น ๆ