“คอร์รัปชั่น” (Corruption) หมายถึง การกระทำทุจริตที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลใดก็ตาม เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยให้ได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดหรือรักษาไว้ ซึ่งประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
การกระทำทุจริตในรูปแบบใดๆ โดยการเรียกรับ หรือ ยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม
ทั้งนี้ รวมถึงการกระทำพฤติกรรมใดๆ ที่ส่อไปในทางของการทุจริตดังกล่าวข้างต้น
1. คณะกรรมการบริษัท
• อนุมัตินโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และขั้นตอนในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
• สร้างความเชื่อมั่นแก่บริษัทฯ ว่า ฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
• ทบทวนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และขั้นตอนในการปฏิบัติเป็นประจำทุกปี
2. คณะกรรมการตรวจสอบ
• สอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายใน ระบบการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความเพียงพอ เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
• กำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดความเสียหาย ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหาร และรายงานผลการตรวจสอบ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นต่อคณะกรรมการบริษัท
3. กรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร
• ถือนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงาน
• กำหนดให้ทุกฝ่ายงานและพนักงานทุกคนนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด
• แต่งตั้งคณะทำงานตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
• กำกับดูแล ให้มีระบบสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
4. คณะทำงานตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
• ประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น
• วางแนวปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่า ระบบการควบคุมของบริษัทฯ มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น
• กำกับดูแล และสนับสนุนด้านบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลต่อนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
• ดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบข้อปฏิบัติของกฎหมาย ข้อกำหนดของหน่วยงานที่กำกับดูแล
• ตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามแนวทางการปฏิบัติของนโยบาย
5. พนักงานของบริษัทฯ
• พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยทั่วกัน ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพการกระทำที่อาจเป็นการฝ่าฝืนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีช่องทางการร้องเรียน การแจ้งเบาะแส รวมถึงให้คำแนะนำ และปกป้องคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้เบาะแสให้มีความปลอดภัย และมั่นใจในการให้ข้อมูลแก่บริษัทฯ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา ผู้บริหาร หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัทฯ กำหนดไว้
บริษัทกำหนดมาตราการในการป้องกันการกระทำทุจริต สำหรับรายการที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น โดยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติกำหนดให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ทุกระดับ ต้องปฏิบัติตาม นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น นโยบายงดรับของขวัญ นโยบายการกำกับดูแลกิจการ นโยบายการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระเบียบ และคู่มือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทฯ กำหนดขึ้น ดังต่อไปนี้
1. การช่วยเหลือทางการเมือง
เพื่อให้สอดคล้องกับคู่มือจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจ และนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของบริษัทจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเมือง ดังนี้
• บริษัทมีแนวปฏิบัติไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือสิ่งของให้แก่พรรคการเมือง นักการเมือง ผู้สมัครรับเลือกทางการเมือง หรือการกระทำอันเป็นการฝักใฝ่ทางการเมือง คนใดคนหนึ่ง และ/หรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้แก่บริษัท
• บริษัทห้ามมิให้พนักงานเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท และไม่อนุญาตให้พนักงานนำสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ ทรัพยากรชของบริษัทฯ ไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง หรือ ระดมทุนทางการเมือง เพื่อจุดประสงค์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ ยกเว้น การให้ความสนับสนุนนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
2. การบริจาคเพื่อการกุศล เงินสนับสนุน ของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
บริษัทกำหนดให้พนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรการกุศล มูลนิธิ บริษัท ห้างร้านที่บริษัทจะเข้าร่วมบริจาค และ/หรือมอบเงินสนับสนุน โดยต้องมั่นใจว่าการบริจาคและเงินสนับสนุนจะไม่ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการให้สินบน และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยต้องระบุชื่อผู้รับบริจาค และ/หรือผู้รับการสนับสนุน และพิสูจน์ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง และ/หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานของบริษัท ตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน ของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ และกำหนดให้พนักงานงดรับของขวัญจากคู่ค้า ตลอดจนพันธมิตรทางการค้า เพื่อแสดงถึงความซื่อสัตย์ โปร่งใส สร้างความมั่นใจ และไว้วางใจจากทุกภาคส่วน หากไม่สามารถปฏิเสธได้ ให้ปฏิบัติตามนโยบายงดรับของขวัญ ของกำนัล
3. การบริหารทรัพยากรบุคคล
บริษัทมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาหรือคัดเลือกบุคลากรที่ไม่มีประวัติการกระทำผิดหรือได้รับโทษในความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง การประเมินผลการปฏิบัติงานและการให้ค่าตอบแทนพนักงาน นอกจากนี้บริษัทยังจัดให้มีการอบรมพนักงานเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยให้มีการดำเนินการปฐมนิเทศให้กับพนักงานใหม่ และมีการอบรมทดสอบความรู้ แก่พนักงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กร
4. การประเมินความเสี่ยงการคอร์รัปชั่น
บริษัทต้องจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงการคอร์รัปชั่น สำหรับฝ่ายงานที่มีความเสี่ยงในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือ บุคคลภายนอก เพื่อให้สามารถกำหนดมาตราการในการป้องกันความเสี่ยงการคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดให้มีการทบทวนความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ และรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติงานของบริษัทเป็นประจำทุกปี
5. การจัดการควบคุมภายใน
บริษัทมีการกำหนดการควบคุมภายใน เกี่ยวกับการจัดทำรายงานทางการเงิน กระบวนการทางบัญชี และการจัดเก็บเอกสาร หลักฐานทางการเงิน และข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตามแผนงานที่กำหนด โดยจัดให้มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและสอดคล้องตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
6. การสื่อสารนโยบาย การรายงานข้อมูล
บริษัทมุ่งเน้นความสำคัญในการสื่อสารนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเป็นอย่างยิ่ง จึงกำหนดให้มีการสื่อสารทั้งภายใน และภายนอกไปยังพนักงานของบริษัท ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ตัวแทน คู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มและผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจได้รับทราบ ผ่านทางจดหมาย สื่อประชาสัมพันธ์ วิดีทัศน์ Intranet และเว็บไซต์บริษัท
ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
1. แจ้งฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือ
2. แจ้งผ่านโทรศัพท์ 02-290-2744, 02-274-9400 ต่อ 2744 หรือ
3. แจ้งผ่านช่องทาง E-Mail ดังนี้ CGhotline@muangthai.co.th
1. รายละเอียดของเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ต้องเป็นความจริง มีความชัดเจน หรือเพียงพอที่จะสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไปได้
2. ผู้ที่แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน สามารถที่จะไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ หากเห็นว่าการเปิดเผยนั้นจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย หรือเกิดความเสียหายใดๆ แก่ตน (อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ร้องเรียน)
3. ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือบุคคลภายนอก
นโยบายฉบับนี้ถือเป็นนโยบายหลัก ที่ให้อำนาจกับคณะทำงานตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ในการเสนอออกคู่มือหรือแนวทางในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ ทบทวน และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน
บริษัทฯ กำหนดให้มีมาตรการสอบสวนข้อเท็จจริง และถือว่าการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ เป็นวินัยอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้จะมีโทษตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ หรือ อาจได้รับโทษตามที่กฏหมายกำหนดไว้