อายุเท่านี้ ซื้อประกันแบบไหนดี? แชร์เคล็ดลับเลือกประกันให้เหมาะกับช่วงวัย
การวางแผนด้านการเงินและสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การเลือกประกันให้เหมาะสมกับช่วงวัยนั้นไม่เพียงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาว
แต่ละช่วงวัยมีความต้องการและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน หากถามว่าเราควรทำประกันชีวิตตอนไหน แกนหลักคือการเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละช่วงวัย เพื่อที่จะเลือกประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการ เมื่อมีข้อสงสัยว่าอายุเท่านี้ ควรซื้อประกันแบบไหนดี บทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยาวไปเลือกอ่านได้นะ
1. อายุไม่เกิน 10 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
2. วัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
3. วัยทำงานอายุ 21 - 30 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
4. ผู้ใหญ่ อายุ 31 - 50 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
5. เคล็ดลับเลือกประกัน ก่อนซื้อต้องพิจารณาอะไรบ้าง
1. อายุไม่เกิน 10 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
วัยแรกเกิด - อายุ 10 ปี เรียกได้ว่าเป็นวัยเด็ก ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นเรียนรู้ และสัมผัสกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว เด็ก ๆ วัยนี้มักจะยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อย รวมทั้งเป็นวัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาด้านความคิด มีความอยากรู้อยากเห็น จึงอาจไม่ได้ระมัดระวังตัว หรือไม่ได้คิดรอบคอบมากนัก ซึ่งทำให้เด็ก ๆ วัยนี้มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้อีกด้วย
ประกันที่แนะนำสำหรับเด็กวัยแรกเกิด - อายุ 10 ปี
- ประกันสุขภาพ โดยสามารถเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมกับปัจจัยเสี่ยงหรือตามความต้องการได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากประกันสุขภาพสำหรับเด็กนั้นมีการเรียกเก็บค่าเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประกันสุขภาพของวัยผู้ใหญ่
- ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สำหรับเด็ก เป็นตัวช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา กรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำแผลหรือค่าใช้จ่ายในการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล วงเงินคุ้มครองจากประกันจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลงได้
2. วัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
วัยรุ่นที่มีอายุ 11 - 20 ปี เป็นวัยที่ร่างกายพัฒนาขึ้น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่าวัยเด็ก แต่จะเป็นวัยที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน มีความอยากรู้อยากลอง และคึกคะนองมากขึ้น จึงอาจพาตนเองไปทำกิจกรรมที่ตื่นเต้นท้าทาย หรือเสี่ยงอันตราย โดยไม่ทันระวังตัว
ประกันที่แนะนำสำหรับวัยรุ่นที่มีอายุ 11 - 20 ปี
คือ ประกันอุบัติเหตุ ที่จะมอบความคุ้มครองครอบคลุมทั้งเรื่องการทำแผลบาดเจ็บ ค่ายา ค่าแพทย์รักษาเมื่อบาดเจ็บหนัก รวมถึงค่าห้องพักเมื่อต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบความคุ้มครองที่น่าจะเหมาะสมและตอบโจทย์คนในวัยนี้มากที่สุด
อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันอุบัติเหตุ >> ประกันอุบัติเหตุ ดียังไง ทำไมถึงต้องมี และคุ้มครองอะไรบ้าง
3. วัยทำงานอายุ 21 - 30 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
ช่วงอายุ 21 - 30 ปี เป็นวัยที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ มีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายและความคิดที่สมบูรณ์มากขึ้น และมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น แน่นอนว่า เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ก็จะมีเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มเข้ามา บวกกับต้องเริ่มวางแผนเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต
ประกันที่แนะนำสำหรับคนวัยทำงานช่วงอายุ 21 - 30 ปี
- ประกันสุขภาพ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ทำงานหนัก และเป็นวัยที่กำลังสนุกกับการใช้ชีวิต จนทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย และเสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย หากเจ็บป่วยและไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติก็อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาที่อาจส่งผลกระทบกับสภาพคล่องทางการเงินได้ ความคุ้มครองจากประกันสุขภาพจะเข้ามาช่วยดูแลส่วนนี้ได้
- ประกันสะสมทรัพย์ เป็นประกันที่ตอบโจทย์คนที่ต้องการออมเงิน พร้อมกับรับความคุ้มครองจากประกันชีวิตไปพร้อม ๆ กัน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเพิ่มวินัยในการออมเงิน และยังช่วยเพิ่มความอุ่นใจด้วยวงเงินคุ้มครองชีวิต หากเกิดเหตุไม่คาดฝันก็จะไม่ทิ้งภาระให้คนข้างหลัง
4. ผู้ใหญ่ อายุ 31 - 50 ปี ซื้อประกันแบบไหนดี?
ช่วงอายุ 31 - 50 ปี เป็นวัยผู้ใหญ่แบบเต็มตัว คนในวัยนี้มักจะเป็นวัยที่เริ่มสร้างครอบครัว มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น บางคนต้องดูแลพ่อแม่ที่สูงวัย บางคนต้องดูแลลูกที่กำลังโต หรือบางคนอาจเป็นเสาหลักครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระทั้งสองทาง จึงต้องเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมเสมอ
ประกันที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่อายุ 31 - 50 ปี
- ประกันโรคร้ายแรง การใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วง รวมถึงพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 31 - 50 ปี ที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ หากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ก็ยังมีวงเงินคุ้มครองจากประกันโรคร้ายแรงที่ช่วยดูแล
- ประกันบำนาญ เมื่อทำงานมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง อาจเริ่มมองเห็นความไม่มั่นคงบางอย่าง และเชื่อว่าหลาย ๆ คนไม่ได้อยากทำงานหนักไปจนแก่ การวางแผนเผื่อช่วงเวลาเกษียณเอาไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำประกันบำนาญ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่อยากเก็บเงินเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณอย่างสบายใจ
- ประกันชีวิต หลาย ๆ คนที่เป็นเสาหลักของครอบครัวอาจมีความกังวลว่า หากวันหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นและเป็นเหตุให้เราต้องจากไปก่อน แล้วครอบครัวจะทำอย่างไร? การเลือกประกันชีวิตก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพิ่มความอุ่นใจว่าจะไม่ทิ้งภาระให้คนข้างหลัง แม้ว่าเราจะจากไปก่อน
5. เคล็ดลับเลือกประกัน ก่อนซื้อต้องพิจารณาอะไรบ้าง
ประเมินความเสี่ยงของตนเอง
แต่ละคนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ขั้นตอนแรกเมื่อต้องการจะซื้อประกันก็คือเริ่มจากการประเมินตนเอง ว่ามีความเสี่ยงรูปแบบไหนบ้าง เช่นประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกรรมพันธุ์ของคนในครอบครัว, พฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง ทั้งอาหารการกิน อาชีพที่ทำ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน, สภาพแวดล้อมในย่านที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน หรือพื้นที่ที่ต้องใช้เวลาอยู่บริเวณนั้นเป็นประจำ มีปริมาณมลพิษ ฝุ่นควัน หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้รวมกันแล้วลองประเมินเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ หากมีการเจ็บป่วย จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวและการใช้ชีวิตตามปกติ มาก-น้อยแค่ไหน
ทบทวนสวัสดิการที่มีอยู่
โดยปกติแล้ว คนไทยจะได้รับสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อใช้เมื่อต้องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และคนที่ทำงานกับองค์กรรัฐหรือเอกชน ก็จะได้รับสวัสดิการเพิ่มเติมเป็นประกันสังคม และประกันสุขภาพแบบกลุ่ม หรือสวัสดิการอื่น ๆ เพิ่มเติม ตามโครงสร้างของบริษัท ทั้งนี้ สวัสดิการเหล่านี้ต่างก็มีข้อกำหนดและเงื่อนไขบางอย่าง ที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือโรคที่ต้องพึ่งพาการรักษาเป็นเวลานาน ค่ายา ค่าผ่าตัด รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สวัสดิการเหล่านี้อาจไม่ครอบคลุม หากทบทวนดูแล้วว่าสวัสดิการที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความเสี่ยง ลองพิจารณาต่อว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้าง
เลือกความคุ้มครองที่เหมาะสม
หลังจากที่ประเมินความเสี่ยงและความต้องการของตนเองมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดมาก็คือการเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมและตอบโจทย์ เราควรทำประกันชีวิตตอนไหน และแบบไหนดี โดยเลือกจากปัจจัยดังนี้
- งบประมาณที่จ่ายไหว (ไม่เกิน 30% ของรายได้ประจำ)
- รูปแบบความคุ้มครองที่ต้องการ (ค่าห้องพัก รพ., คุ้มครองค่ารักษา, ประกันเหมาจ่าย ฯลฯ)
- ขอบเขตความคุ้มครอง เมื่อเทียบกับเบี้ยที่ต้องจ่าย คุ้มค่ามาก-น้อยแค่ไหน
- รูปแบบการจ่ายเบี้ยประกัน (เบี้ยคงที่, ไม่คงที่, มี Deductible)
อ่านรายละเอียดและเงื่อนไข
แผนประกันแต่ละรูปแบบจะมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกัน อย่าลืมอ่านรายละเอียดและเงื่อนไข/ข้อยกเว้นเกี่ยวกับความคุ้มครอง เพื่อให้เข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ตรงกัน ลดความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความคุ้มครองและการเคลม เป็นวิธีที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ของตัวผู้ซื้อประกันเองอีกด้วย
ความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย
อีกปัจจัยที่หลาย ๆ คนมักจะมองข้าม คือเรื่องความมั่นคงทางการเงินของบริษัทที่รับประกันภัย หากเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือ และดำเนินการอย่างโปร่งใส ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยยืนยันว่าบริษัทจะไม่ล้มละลายหรือประสบเหตุวิกฤตทางการเงินจนไม่สามารถจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ซื้อประกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีเพิ่มความมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อประกัน
อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันแต่ละแบบ ฉบับเข้าใจง่าย >>
ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประกันชีวิต ฉบับเข้าใจง่าย
รู้จักประกันสุขภาพให้มากขึ้น ก่อนตัดสินใจซื้อ!
คำถามยอดฮิต ของประกันโรคร้ายแรง ที่คุณต้องรู้
การวางแผนชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนในชีวิตได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารการเงิน การดูแลสุขภาพ หรือการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เมื่อมีแผนที่ชัดเจนช่วยให้เรามองเห็นเป้าหมายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การเลือกประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่เหมาะสมเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยปกป้องตัวเราเองและคนที่เรารักจากความเสี่ยงที่ไม่คาดฝันแล้ว ยังเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับชีวิตในระยะยาว หากไม่แน่ใจว่าอายุเท่านี้ ควรซื้อประกันแบบไหนดี ก็เลือกจากคำแนะนำในบทความนี้ได้เลย เพื่อให้ทุกก้าวของชีวิตเป็นไปอย่างมั่นคงและเต็มไปด้วยความสุข
- โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ที่มา สืบค้น ณ วันที่ 10/01/2568