การกระจายความเสี่ยงเป็นประโยชน์ ในช่วงตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนสูงต้น ส.ค. 67
- ตลาดหุ้นช่วงต้นเดือน ส.ค. 67
- สาเหตุหลักตลาดหุ้น
- การปรับนโยบายทางการเงิน
- อัตราการว่างงาน
- MTL Portfolio ช่วงที่ผ่านมา
- มุมมองและคำแนะนำการลงทุน
• ในช่วง 5 วันแรกของเดือน ส.ค. 67 ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลง -6.4% นำโดยหุ้นญี่ปุ่นที่ลดลงถึง -20.3% ในขณะที่หุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง -6.1% และหุ้นไทย -3.5% ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงจากระดับ 4.0% - 4.4% ในช่วงเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ 3.8% ณ วันที่ 5 ส.ค. 67
• โดยสาเหตุหลัก ๆ น่าจะมาจาก 2 สาเหตุในสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวคือ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นดอกเบี้ย และตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวลง
• ในกรณีของ BOJ นั้น การปรับนโยบายทางการเงิน มีโอกาสสูงที่จะปรับเพิ่มดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ต.ค. 67 นั้น จะส่งผลให้หากนับจากจุดที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวมากสุดเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ถึงวันที่ 5 ส.ค. 67 ค่าเงินเยนมีการแข็งค่าขึ้นมาแล้วมากกว่า 10% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนที่มีการกู้เงินเยนไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ต้องเร่งปิดสถานะการลงทุน ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลง
• สำหรับสหรัฐฯ นั้น อัตราการว่างงานที่ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ทำให้ตลาดเริ่มกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ในการประชุมนโยบายการเงินล่าสุด ยังเลือกที่จะคงระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% - 5.5% มีการตอบสนองที่ช้าเกินไปต่อตัวเลขตลาดแรงงานที่อ่อนตัวลง โดยปัจจุบันตลาดคาดว่า FED จะปรับลดดอกเบี้ยในที่ประชุมเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะปรับดอกเบี้ยลงในช่วงเวลาที่เหลือของปีเท่ากับ 1.0% หรือ กล่าวได้ว่าดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอาจลงมาเหลือ 4.25% - 4.5% ซึ่งล่าสุดดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ ก็มีการปรับตัวลงสะท้อนมุมมองดังกล่าวแล้ว
• ในส่วนของ MTL Portfolio ทั้ง 5 พอร์ตนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ผลตอบแทนตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ค. 67 ถึง ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 ส.ค. 67 (indicative)* นั้น อยู่ในกรอบ 0.04% ถึง -1.00% ไล่เรียงตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพอร์ต เปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นโลกในช่วงเวลาเดียวกันมีการปรับตัวลงไปกว่า -3.3% โดยการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้โลก REITs ไทยและสิงคโปร์ และ ทองคำที่ปรับตัวขึ้น ช่วยให้ผลการดำเนินงานไม่ปรับตัวลงมาก
มุมมองและคำแนะนำการลงทุน
ในระยะสั้น ตลาดกำลังอยู่ในช่วง Risk-off และมีแนวโน้มผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดีนักลงทุนระยะยาวไม่ควรตกใจจนเกินไป และยังสามารถลงทุนต่อไปได้ตามระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ของแต่ละพอร์ต โดยการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลายตามข้างต้น ช่วยลดโอกาสขาดทุนและตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนอย่างปัจจุบัน ขณะที่หากในอนาคต FED มีการปรับลดดอกเบี้ยลงตามตลาดคาด (ในเดือน ก.ย.67) ตลาดหุ้นและตราสารหนี้จะสามารถปรับตัวขึ้นได้หากไม่มีเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง (จากข้อมูลปัจจุบันเรายังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจน)
หมายเหตุ
ผลตอบแทนอ้างอิงของตลาดหุ้นต่างๆ อยู่ในสกุลเงินท้องถิ่นนั้น ๆ โดยไม่รวมเงินปันผล โดยตลาดหุ้นโลกคือดัชนี MSCI ACWI, ตลาดหุ้นญี่ปุ่นคือดัชนี TOPIX, ตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ S&P 500, และตลาดหุ้นไทยคือดัชนี SET
*ผลตอบแทน Indicative ของพอร์ต มาจากการคำนวณเบื้องต้น โดยอิงจากผลตอบแทนของกองทุนที่ลงทุนและสัดส่วนตามโมเดล โดยผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง สามารถติดตามได้ผ่าน MTL Portfolio Factsheet ประจำเดือน
Source: FMLP, Bloomberg
คำเตือน : ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ควรทำความเข้าใจลักษณะกองทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ เอกสารนี้จัดทำโดยการ เรียบเรียงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสาธารณะเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับภายใน มิใช่สำหรับการเผยแพร่ และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชักชวน ชี้นำ หรือเสนอขายหลักทรัพย์ใดๆ จึงไม่ถือเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจการลงทุนทางการเงินโดยสิ้นเชิง อนึ่งข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนเอกสารฉนับนี้ ถูกจัดทำและรวบรวมด้วยความสุจริต และพยายามจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่บริษัทฯ มิอาจรับประกันความถูกต้องครบถ้วน หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวได้ ผู้ใช้ข้อมูลนี้ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญานของตนเอง และรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และผู้ลงทุนควรตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เป็นผู้บริหารกองทุนโดยตรงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลกองทุน