ไวรัสตับอักเสบเอ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาทำยังไง รู้ไว ห่างไกลโรค
ปัจจุบัน พฤติกรรมการทานอาหารและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มักจะถูกกระทบจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การเลือกทานอาหารที่ไม่ค่อยคำนึงถึงสุขภาพ หรือการทำงานหนักจนไม่สนใจการดูแลร่างกาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สามารถนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ ที่มักจะไม่คาดคิด รวมถึงโรคไวรัสตับอักเสบที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาดหรือการละเลยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคไวรัสตับอักเสบเอ รวมทั้งสายพันธุ์อื่น ๆ โดยที่คุณอาจไม่ทันรู้ตัว
บทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จักกับโรคไวรัสตับอักเสบเอ ทั้งสาเหตุ อาการที่เป็น และการป้องกันโรคนี้ ตามมาอ่านกันได้เลย
ยาวไปเลือกอ่านตามหัวข้อได้นะ
1. ไวรัสตับอักเสบเอ คืออะไร ติดต่อทางไหน
2. ไวรัสตับอักเสบเอ กับ บี ต่างกันอย่างไร
3. วิธีรักษาไวรัสตับอักเสบเอ เป็นแล้วดูแลอย่างไร
4. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ฉีดกี่เข็ม
1. ไวรัสตับอักเสบเอ คืออะไร ติดต่อทางไหน
ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) เป็นโรคติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะในกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจนำพาเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าที่คิด
โรคไวรัสตับอักเสบเอ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Picornavirus เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในตับ ส่งผลให้การทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งร่างกายจะแสดงอาการโดยมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง
กรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง หากดูแลรักษาอย่างถูกหลัก ก็จะกลับมาหายเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของโรค และไม่ติดเชื้อเรื้อรัง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอในผู้สูงอายุ ก็จะเสี่ยงอันตรายมากกว่า เสี่ยงตับอักเสบเฉียบพลันขั้นรุนแรง โรคตับแข็ง หรือติดเชื้อจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> ภัยเงียบมะเร็งตับ สัญญาณเตือนที่คุณควรรู้
อาการของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ
- มีไข้
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกแน่นหรือเจ็บช่วงใต้ชายโครงขวา
- ปวดท้อง ท้องร่วง
- ปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติ
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
ไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อทางไหน
ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้อยู่ หรือติดต่อผ่านสารคัดหลั่งเช่น น้ำมูก น้ำลายของผู้ติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เชื้อจะมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับอุจจาระของผู้ติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนจะแสดงอาการ ซึ่งเชื้อตัวนี้จะทนอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน จึงมีโอกาสที่จะลอยไปปนเปื้อนกับน้ำและอาหาร หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่คนสัมผัสแล้วนำไปสู่การติดเชื้อ ด้วยเหตุนี้ จึงพบว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีการระบาดมากในชุมชนที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น ชุมชนแออัด โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ใครบ้างที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ
- ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด หรือต้องอาศัยในพื้นที่แคบร่วมกับคนหมู่มาก เช่น ในค่ายทหาร, ศูนย์อพยพ
เด็กเล็ก หรือผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก - ผู้ที่พักอาศัย หรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ
- ผู้ที่พักอาศัยร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง
อ่านบทความเพิ่มเติม >>> รู้จักโรคอุจจาระร่วงให้มากขึ้น เพราะท้องเสียไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ!
2. ไวรัสตับอักเสบเอ กับ บี ต่างกันอย่างไร
โรคไวรัสตับอักเสบ ถูกแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ โดยแต่ละชนิดมีลักษณะการติดต่อ อาการ และผลกระทบที่แตกต่างกันไป ซึ่งสายพันธุ์ที่พบบ่อยและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือไวรัสตับอักเสบเอ (HAV) และไวรัสตับอักเสบบี (HBV) หลายคนอาจสงสัยว่าไวรัสสองชนิดนี้ต่างกันอย่างไร และมีผลต่อร่างกายในแบบใดบ้าง แอดจะพาไปทำความเข้าใจความแตกต่างของสายพันธุ์เอและบีกัน
เชื้อไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์เอ
- ช่องทางการติดต่อของโรค พบเชื้อในน้ำลาย, อุจจาระของผู้ติดเชื้อ ติดต่อโรคได้ผ่านการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ
- การแสดงอาการของผู้ป่วย เชื้อฟักตัวโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ก่อนแสดงอาการ มีไข้ ปวดท้อง ตัวเหลือง-ตาเหลือง
- ระยะเวลารักษา โดยทั่วไปอาการจะหายภายในระยะเวลา 2 เดือน
- ความรุนแรงของอาการ ไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์เอ เป็นตัวที่สามารถรักษาให้หายได้ และไม่กลับมาเป็นพาหะอีก
เชื้อไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์บี
- ช่องทางการติดต่อของโรค พบเชื้อในเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา และสารคัดหลั่งในร่างกายของผู้ติดเชื้อ โดยจะติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การคลอดบุตร การสัมผัสบาดแผล การใกล้ชิด หรือการใช้สิ่งของบางอย่างร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา แปรงสีฟัน
- การแสดงอาการของผู้ป่วย ระยะฟักตัวของเชื้อจะอยู่ที่ 1 - 3 เดือน และจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว และตาเหลือง-ตัวเหลือง
- ระยะเวลารักษา โดยกรณีเป็นอาการแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะหายเองได้ภายใน 6 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นอาการแบบเรื้อรัง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับ และโรคตับแข็งต่อไป
- ความรุนแรงของอาการ ไวรัสตับอักเสบบีเป็นเชื้อที่ติดแล้วสามารถรักษาให้หายได้ แต่ให้ระวังโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมา
3. วิธีรักษาไวรัสตับอักเสบเอ เป็นแล้วดูแลอย่างไร
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบเอ หลายคนอาจเกิดความกังวลว่า หลังจากนี้จะต้องรักษาอย่างไร รวมทั้งแนวทางในการดูแลสุขภาพเพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน ต้องทำยังไงบ้างมาดูกันเลย
- ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนประกอบอาหาร
- สวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่ง หรืออุจจาระของผู้อื่น
- รักษาความสะอาดของร่างกาย และพื้นที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
- ทานยารักษาตามอาการ หรือตามแพทย์สั่ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ
4. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ฉีดกี่เข็ม
ปัจจุบัน แนวทางการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ และบี สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดีในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ สำหรับคนที่สนใจ แอดขอแนะนำแนวทางการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ควรฉีดเมื่อไร และต้องดำเนินการอย่างไรบ้างนะ?
ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ
- ผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค เช่น เด็กแรกเกิด, เด็กเล็ก
- เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ใกล้ชิด หรือต้องดูแลผู้ที่ติดเชื้อ
- ผู้ที่ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดโรค และผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่กำลังเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
- ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย
- ผู้ที่มีอาการของโรค Hemophilia
- ผู้ใช้ยาเสพติดหรือมีพฤติกรรมติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ฉีดกี่เข็ม ห่างกันกี่เดือน
หากต้องการรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอเพื่อการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปจะฉีด 2 ครั้ง(เข็ม) โดยเว้นระยะเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรกเป็นเวลาประมาณ 6 - 12 เดือน
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ+บี ฉีดกี่เข็ม ห่างกันกี่เดือน
ผู้ที่มีอายุระหว่าง 8 - 65 ปี สามารถรับวัคซีนตับอักเสบเอและบีรวมกันได้ในเข็มเดียวกัน โดยจะฉีด 3 ครั้ง(เข็ม) ฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 1 เดือน และฉีดเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อีก 6 เดือน
การเลือกทานอาหารที่ดีและดูแลสุขภาพในทุก ๆ วัน จะช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เป็นส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อไม่ให้เราต้องเผชิญกับโรคไวรัสตับอักเสบเอ หรือโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมา เมื่อห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่มากขึ้นอีกด้วย
ดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม และเติมความสบายใจให้มากกว่าเดิม ด้วย ประกันสุขภาพ จากเมืองไทยประกันชีวิต ตัวช่วยดูแล ดุจเพื่อนที่อยู่เคียงข้างคุณ
รายละเอียดเพิ่มเติม
☑️ โทร.1766 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
☑️ ติดต่อตัวแทนเมืองไทยประกันชีวิต/ช่องทางที่ดูแลท่าน
- โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
ที่มา สืบค้น ณ วันที่ 28/04/2568