หลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ ไปตรวจ Sleep Test กันเถอะ
หากคุณเคยมีอาการนอนหลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกไม่สดชื่นหลังการตื่นนอน ทั้ง ๆ ที่นอนเต็มอิ่ม แวะมาทางนี้ เพราะวันนี้เมืองไทยสไมล์คลับจะพาสมาชิกฯ มารู้จักกลไกของร่างกายขณะหลับจนถึงตื่นนอน รวมถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการนอนหลับไม่สนิท ที่ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคการนอนหลับผิดปกติด้วย Sleep Test เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง
• อาการนอนหลับไม่สนิท ไม่ใช่เรื่องปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้
มนุษย์ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กินอยู่หลับนอนเป็นกิจวัตรประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ตอนเป็นทารกก็นอนมากหน่อย เมื่อสมองรับรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น เวลานอนก็น้อยลง ไม่มีใครจะอดน้ำอดข้าวได้เป็นเวลานาน การนอนก็เช่นกัน ไม่ว่าเราจะพยายามฝืนไม่นอนแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้และต้องนอนในที่สุด กลไกการนอนต้องอาศัยสารเคมีที่ทำงานในส่วนสมอง เช่น กลุ่มของ GABA
กลไกการนอนจะเข้ามาแทนที่กลไกการตื่นวันละครั้งโดยมีตัวควบคุมเวลาอยู่ในกลุ่มเซลล์สมองใกล้เส้นประสาทตา การทำงานของนาฬิกาชีวิตจะใช้แสงเป็นตัวควบคุม โดยในภาวะร่างกายปกติเราจะเข้าสู่โหมดการนอนหลับในช่วงเวลา REM sleep หรือช่วงนอนหลับฝัน จะมาเป็นช่วง ๆ สั้น ๆ จนกระทั่งตื่นในเช้าวันใหม่เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเรานอนได้วันละ 6 – 8 ชั่วโมง เราจะรู้สึกสดชื่น ไม่ต้องใช้กาแฟช่วยยามเช้า ไม่ต้องทานยานอนหลับก่อนนอน ชีวิตถึงจะดำเนินไปได้ตามปกติ แต่ถ้ากลไกการนอนเริ่มแปรปรวน เมื่อนั้นแหละชีวิตก็จะเปลี่ยนไป
• โรคของการนอนหลับผิดปกติแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มที่มีการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ (Sleep- related breathing disorder)
2. กลุ่มโรคที่มีปัญหาการเข้านอนหรือนอนหลับไม่สนิท มีอาการนอน หลับ ๆ ตื่น ๆ (Insomnia disorder)
3. กลุ่มโรคที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายในขณะนอน (Sleep related movement disorder)
4. กลุ่มโรคที่หลับง่ายและตื่นยาก (Hypersomnolence)
5. กลุ่มโรคที่มีพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน (Parasomnia)
6. กลุ่มโรคที่ทำให้นอนไม่เป็นเวลา (Circadian rhythm sleep- wake disorder)
ในกลุ่มทั้ง 6 กลุ่ม กลุ่มแรกน่ากลัวที่สุดเพราะคนไข้จะหยุดหายใจเป็นระยะขณะหลับ ทำให้ระดับออกซิเจน (oxygen) ในเลือดลดลง ร่างกายต้องการออกซิเจนไปสร้างพลังงานในรูป ATP เหมือนกับรถยนต์ต้องการน้ำมัน ขณะเดียวกันร่างกายก็ต้องขับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกไปด้วย ร่างกายจะเหมือนกับภาวะโลกร้อนในตอนนี้ เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวท่วม เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ร่างกายมีคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเลือดจะเป็นกรดมากขึ้น เครื่องยนต์กลไกลต่าง ๆ ในร่างกายจะรวนกันไปหมด ทั้งปวดหัวอ่อนเพลียง่วงหงาวหาวนอน อารมณ์แปรปรวน หลับใน จนไปถึงเกิดโรคหัวใจ โรคสมอง โรคเบาหวาน และโรคความดันสูงได้ง่ายขึ้น
• รักษาโรคการนอนหลับผิดปกติด้วยการเริ่มต้นตรวจ Sleep Test
เมื่อการนอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ส่งผลให้ร่างกายเกิดความแปรปรวนจนกระทั่งอาจจะก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เราจึงควรตรวจ Sleep Test หรือที่เรียกว่า Polysomnography เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาวิธีการรักษาโรคการนอนหลับผิดปกติ ซึ่งประกอบไปด้วยการตรวจ ดังนี้
1. การตรวจคลื่นสมอง จะช่วยให้เรารับรู้ได้ว่า คนไข้หลับดีไหมมี REM Sleep เท่าไหร่ มีลมชัก (Seizure ) ไหม โดยคลื่นสมองจะแบ่งเป็น อัลฟ่า เบต้า เดลต้า เธต้า ตามขนาดและความถี่ของคลื่น REM Sleep เป็นช่วงที่เราหลับฝันอย่างมีรสชาติ เป็นช่วงที่สมองยังทำงานอยู่ในเรื่องของความจำ เป็นช่วง Metaverse ช่วงเสมือนจริง ช่วงนี้เราฝันเดินไปเดินมากระโดดโลดเต้นแม้กระทั่งมีเซ็กส์เป็นช่วงที่สมองต้องส่งสัญญาณรบกวนไปที่ไขสันหลังป้องกันไม่ให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปตามฝันถ้าเกิดความผิดปกติในส่วนนี้ร่างกายก็จะทำตามเรื่องราวฝันในสมองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เดินละเมอพฤติกรรมผิดปกติกระโดดโลดเต้น จนบางครั้งเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต เช่น พ่อโยนลูกออกจากหน้าต่างเพราะคิดว่าเป็นลูกบอล หรือหนุ่มอินเดียตัดอวัยวะเพศตัวเองเพราะคิดว่ากำลังแล่เนื้อแกะ คลื่นสมองและกล้ามเนื้อจะให้ข้อมูลในส่วนนี้ หรือถ้าคนไข้หยุดหายใจก็จะแย่ลงในช่วง REM ได้เช่นกัน
2. การตรวจการหายใจโดยดูการเปลี่ยนแปลงของความดันกับอุณหภูมิที่จมูกจะบอกว่าคนไข้หยุดหายใจหรือไม่ และถ้าหยุดหายใจเป็นจากสมองหรือการอุดตันทางเดินหายใจโดยตรวจการเคลื่อนไหวของอกและท้อง
3. การตรวจหัวใจ ดูการเต้นผิดจังหวะของหัวใจหรือหัวใจขาดเลือด (EKG)
4. การตรวจค่าออกซิเจนและ/หรือ ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อดูว่าร่างกายได้รับผลกระทบจากการหายใจผิดปกติเท่าไหร่
5. การตรวจดูการเคลื่อนไหวของตา เพื่อดูว่าร่างกายเข้าสู่ REM Sleep ไหม (Rapid Eye Movement) ตากรอกไปมาอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ ถ้าคนไข้มีการเคลื่อนไหวผิดปกติในช่วงนี้ก็อาจจะเป็นเพราะมีโรคพาร์กินสันได้
6. การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อขา เพื่อดูโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติในการนอนพบได้บ่อยในคนไข้ขาดธาตุเหล็กตั้งครรภ์หรือทานยาโรคซึมเศร้า
7. เสียงกรนเพื่อจะได้ดูว่าต้องใช้ oral appliance (ที่ครอบหรือดึงฟันขณะนอน) หรือไม่ และการกรนขึ้นกับท่านอนหรือเปล่า
นอกจากการตรวจในเวลากลางคืนแล้ว ถ้าคนไข้มีปัญหาหลับไม่เลือกที่ หลับในหรือเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) เราจะต้องตรวจดูว่าการนอนหลับผิดปกติ เกิดในช่วง REM ซึ่งมีมากขึ้น และเกิดได้เร็วขึ้น การตรวจนี้เรียกว่า MSLT (Multiple Sleep Latency Test ) คือการตรวจสอบความง่วง ซึ่งเป็นการตรวจความรวดเร็วในการหลับ หากตรวจพบอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา
• ผลกระทบที่เกิดขึ้น หากปล่อยอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิททิ้งไว้
หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่เข้ารับการรักษา อาจจะเกิดการเผลอหลับขณะขับรถ อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ บางครั้งแค่อารมณ์เปลี่ยนก็สามารถกระตุ้นให้เผลอหลับไปได้ด้วย การตรวจนี้จะตรวจช่วงเช้าถึงเย็น หลังจากทำการตรวจการนอนหลับตอนกลางคืนแล้ว การนอนหลับมีความสำคัญเทียบเท่าอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรค คนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงหรือมากกว่า 8 ชั่วโมง จะมีอัตราเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังและเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนครบ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับในกรณีที่มีปัญหาการนอนหลับ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการนอนหลับไม่ใช่แค่เอนตัวลงบนเตียงแล้วตื่นขึ้นมาอย่าง งง ๆ เพลีย ๆ หลับ ๆ ตื่น ๆ แม้แต่การปัสสาวะในตอนกลางคืนก็อาจมีความสัมพันธ์กับการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้เกิดการหลั่งสาร Natriuretic peptide จากหัวใจ (จากผลของความเครียดที่เกิดจากภาวะออกซิเจนต่ำขณะนอน) ทำให้ปัสสาวะมากขึ้น การตรวจรักษาก็จะช่วยให้ลดการปัสสาวะขณะนอน ทำให้หลับได้สบายขึ้น ความดันโลหิตก็ลดลง เมื่อมีความผิดปกติในการนอนหลับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็จะทำการตรวจรักษาอาจจะมีการใช้ข้อมูลจากสมาร์ทโฟน (Smartphone) หรือนาฬิกา Smartwatch ตรวจการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าActigraphy ร่วมกับการซักประวัติอย่างถี่ถ้วนพร้อมกับวิเคราะห์ผล Sleep Test เพื่อรักษาและติดตามผลการรักษาต่อไป
จากทั้งหมดจึงเห็นได้ว่า ปัญหาด้านการนอนหลับ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจจะส่งผลให้กลไกการนอนแปรปรวน รวมถึงอาจเกิดปัญหาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเผลอหลับ จนเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถได้ ทั้งนี้ เราจึงไม่ควรเพิกเฉยหากมีอาการดังกล่าว และควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา หรือตรวจ Sleep Test เพื่อที่จะได้หาแนวทางการรักษาโรคนอนหลับผิดปกติในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมืองไทยสไมล์คลับ ห่วงใยสุขภาพของสมาชิกฯ เพราะการนอนที่มีคุณภาพส่งผลต่อสุขภาพที่ดี จึงขอส่งมอบสิทธิพิเศษให้สมาชิกเมืองไทยสไมล์คลับใช้คะแนนสะสม 3,000 Smile Points แลกรับโปรแกรมตรวจความผิดปกติของการนอนหลับ Sleep Test Program โดยสามารถเข้ารับบริการโปรแกรมดังกล่าวได้ในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบบทความ ดังนี้
- บทความ Sleep Test Dr. Jirayos นพ. จิรยศ จินตนาดิลก อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการนอนหลับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค