ไขมันในเลือดสูง อาการแสดงเป็นอย่างไร ห้ามกินอะไรและกินอะไรดี
ไขมันในเลือดสูง เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยโรคกลุ่มนี้มักเกิดจากการสะสมของพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังเป็นระยะเวลานาน จึงเป็นโรคยอดฮิตที่มีจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงติดอันดับทั่วโลก นอกจากนี้ ไขมันในเลือดสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ มากมายโดยเฉพาะกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง (CADs) ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักและหันมาสนใจการรักษาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหาร การออกกำลังกาย หรือการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันในอาหาร นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยควบคุมและ ลดไขมันในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน วันนี้ทางเราจึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ไขมันในเลือดสูง จุดเริ่มต้นของโรคร้ายแสนอันตราย เพื่อให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจและเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ไขมันในเลือดสูง คืออะไร
สาเหตุของไขมันในเลือดสูง
อาการบ่งชี้ไขมันในเลือดสูง
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคไขมันในเส้นเลือดสูง
ไขมันในเลือดสูง อันตรายไหม
วิธีการรักษาและ ลดไขมันในเลือด
เป็นโรค ไขมันในเลือดสูง กินอะไรดี
เป็นโรค ไขมันในเลือดสูง ห้ามกินอะไรบ้าง
ไขมันในเลือดสูง คืออะไร
ไขมันในเลือดสูง หรือ Hyperlipidemia คือภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โดยไขมันในเส้นเลือดจะประกอบไปด้วย
1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับบางส่วนจากอาหารที่กินเข้าไป พบมากในไขมันจากสัตว์ ทำหน้าที่ช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนและเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยคอเลสเตอรอลที่สำคัญ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ
- เอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือที่เราเรียกว่า “ไขมันดี” ทำหน้าที่คอยดักจับไขมันที่เป็นส่วนเกินในเส้นเลือดแดงส่งไปยังตับ การมีไขมันชนิดนี้สูง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจแดงตีบ หรือ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ได้ ในระดับปกติค่า HDL ที่พบในเพศชายจะต้องมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนในเพศหญิงจะต้องมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- แอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ “ไขมันเลว” ทำหน้าที่นำไขมันไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านเส้นเลือดแดง การที่ร่างกายมี ไขมันในเลือดสูง เกินไป อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเปราะและตีบแคบลง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการหลอดเลือดแดงตีบหรือ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งค่า LDL ในระดับปกติทั้งเพศชายและหญิง ไม่ควรเกิน 100-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
เป็นไขมันในร่างกายอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือได้รับโดยตรงจากการกินอาหารประเภทไขมัน ไตรกลีเซอไรด์จะถูกร่างกายเก็บและสะสมไว้สำหรับเป็นพลังงานสำรอง แต่หากมีการสะสมที่มากเกินไปก็อาจก่อให้เกิด ไขมันในเลือดสูง ได้เช่นเดียวกัน โดยไตรกลีเซอไรด์ในระดับปกตินั้นจะต้องไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทั้งในเพศชายและหญิง
สาเหตุของไขมันในเลือดสูง
สาเหตุที่ทำให้ไขมันในเลือดสูงนั้นมีได้หลายปัจจัย แบ่งเป็น
สาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน
- การกินอาหารผิดหลักโภชนาการ การกินอาหารถือเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิด ไขมันในเลือดสูง ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่เกินความจำเป็นของร่างกาย กินอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูงมากเกินไป จนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไตรกลีเซอไรด์มากเกินความต้องการ หรือการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง เช่น ไขมันจากสัตว์ กะทิ นม ไข่ เนย อาหาร fast food หรืออาหารทอดกรอบ จนทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
- การสูบบุหรี่ หรือการสูดควันบุหรี่ โดยบุหรี่นั้นจะเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดแดง ทำให้มีโอกาสเกิดการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้บุหรี่ยังส่งผลให้ระดับ เอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือไขมันดีในร่างกายลดลงอีกด้วย
- การดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและดื่มเป็นประจำ แอลกอฮอล์ เป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่เมื่อกินเข้าไปร่างกายไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ จึงถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของไขมันสะสมในร่างกาย
- ขาดการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ลดไขมันในเลือด หรือระดับคอเลสเตอรอลให้ลดลง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือไขมันดีในร่างกาย
สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ
- ภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน คือคนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) สูงตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เกิดจากการที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินกว่าปกติหรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญ จึงเสี่ยงต่อการเกิด ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลกลุ่มแอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือไขมันเลวสูงขึ้น และเอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือไขมันดีในร่างกายลดลง อีกทั้งยังมีส่วนในการทำลายเยื่อบุหลอดเลือดแดง
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome: PCOS) มีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง
- โรคไต ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมักมีระดับคอเลสเตอรอลกลุ่มแอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือไขมันเลวสูง
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ระดับฮอร์โมนที่ต่ำจะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงและเกิด ไขมันอุดตันในเส้นเลือด
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องของระบบเผาผลาญไขมัน
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นประสิทธิภาพในการกำจัดแอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือไขมันเลวของตับจะทำงานได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่คอเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
- ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านอักเสบ ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด โดยยากลุ่มนี้จะทำให้ทั้งระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้น หากกินเป็นประจำอาจก่อให้เกิด ไขมันในเลือดสูง
อาการบ่งชี้ ไขมันในเลือดสูง
โดยปกติไขมันในเลือดสูงไม่ได้มีอาการที่บ่งชี้โรคได้อย่างชัดเจน ทราบได้จากการตรวจเลือดวัดระดับไขมันเท่านั้น จึงค่อนข้างสังเกตอาการได้ยาก ส่วนใหญ่จะสังเกตได้จากอาการภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการภาวะหลอดเลือดตีบตัน เช่น เจ็บหน้าอกนานกว่า 20 นาที เหงื่อออก ตัวเย็น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เป็นลม หายใจหอบ หายใจไม่พอ หายใจสั้น ปวดจุกท้องบริเวณลิ้นปี่ ปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรค ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและต่อเนื่อง
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่ป่วยหรือมีประวัติเป็นโรค ดังนี้
- โรคเบาหวาน
- โรคตับอ่อน
- โรคไต
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- ภาวะพร่องไทรอยด์
- ภาวะท่อน้ำดีอักเสบ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคหัวใจ
- โรคอ้วน
- ผู้ที่รับประทานยา ดังนี้
- ยาต้านอักเสบ
- ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
- ยาคุมกำเนิด
- ยาขับปัสสาวะ
- ยาต้าน HIV
ดังนั้น หากใครมีความกังวล หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็น ไขมันในเลือดสูง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตของตนเอง
ไขมันในเลือดสูง อันตรายไหม
ส่วนที่เป็นอันตรายมากที่สุดของไขมันในเลือดสูง ส่วนใหญ่จะเกิดจากการสะสมของคราบไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบหรือ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น
- โรคเหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดน้อยลง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลหรือสารอื่น ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรือเกิด ไขมันอุดตันในเส้นเลือด จนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจ อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรืออันตรายต่อชีวิตได้
- ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มักเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากการสะสมของไขมันและหินปูน ทำให้หัวใจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ จนนำไปสู่การเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
- หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เกิดจาก ไขมันอุดตันในเลือดสูง จนกีดขวางการไหลเวียนของเลือดที่จะถูกส่งไปยังหัวใจและสมอง
- ไตวาย ไขมันในเลือดสูง อาจจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดภาวะไตวาย แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงเกิดไตวายเร็วขึ้น
- ไขมันพอกตับ ตับมีหน้าที่ในการสร้างและกำจัดไขมันในเส้นเลือด หากมี ไขมันในเลือดสูงมากเกินกว่าที่ตับจะกำจัดออกไปได้หมด อาจทำให้ไขมันเหล่านั้นเกิดการสะสมที่ตับ จนกลายเป็นไขมันพอกตับในที่สุด ซึ่งหากเป็นไขมันพอกตับในระยะเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะตับแข็งและตับวายได้
วิธีการรักษาและ ลดไขมันในเลือด
สำหรับการรักษา ไขมันในเลือดสูง แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการรับประทานยา เนื่องจากไขมันในเลือดสูงมักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ โดยสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อ ลดไขมันในเลือด ได้ดังนี้
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน และกระตุ้นการสร้าง เอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือไขมันดีในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่นำไขมันออกจากเซลล์และส่งไปยังตับเพื่อทำการย่อยสลายและกำจัดออกจากร่างกาย อีกทั้งการเพิ่มไขมันเอชดีแอลจะช่วยลดโอกาสการเกิดไขมันสะสม (Plaque) ภายในหลอดเลือดได้ โดยสามารถเริ่มออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์
ปรับพฤติกรรมการกิน
- จำกัดปริมาณหรือลดการกินไขมันอิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวพบมากในเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนม
- เลี่ยงการกินอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์ส่วนใหญ่มาจากน้ำมันพืชที่เติมไฮโดรเจนเพื่อให้น้ำมันคงตัวและเก็บได้นานขึ้น
- เพิ่มโอเมก้า 3 (Omega 3) โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่ม เอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือไขมันดีในร่างกาย อีกทั้งยังช่วยลดคอเลสเตอรอลกลุ่มแอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือไขมันเลว และไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นกลุ่มไขมันที่ส่งผลให้ ไขมันในเลือดสูง อีกด้วย
- เพิ่มใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) ซึ่งไฟเบอร์ชนิดนี้จะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด
- เพิ่มการกินอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ โปรตีนมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายและช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง การได้รับโปรตีนที่เพียงพอควบคู่กับการออกกำลังกายในระยะยาว นอกจากช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยเผาผลาญพลังงานและไขมันในร่างกาย ส่งผลให้ ลดระดับไขมันในเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดไขมันในเลือดสูง ได้อีกด้วย แต่การปรับเพิ่มหรือลดอาหารนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสอดคล้องกับสภาพร่างกาย โรคหรือภาวะแทรกซ้อน และวิถีชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล
งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลกลุ่มแอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือไขมันเลวเพิ่มขึ้น และทำให้เอชดีแอล (Hight density lipoprotein-HDL) หรือไขมันดีในร่างกายลดลง
งดดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากและดื่มเป็นประจำ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น อีกทั้งกระบวนการในการกำจัดแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายลดการเผาผลาญไขมันลง หากต้องการ ลดไขมันในเลือด จึงควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ
ฝึกจัดการความเครียด
ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มารับมือเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งในผู้ที่มีความเครียดสะสม อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลกลุ่มแอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หรือไขมันเลวได้ การจัดการกับความเครียดจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วย ลดไขมันในเส้นเลือด ได้ดี โดยสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การหากิจกรรมที่ช่วยในการผ่อนคลาย หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมเพื่อประสิทธิภาพในการ ลดไขมันในเส้นเลือด ได้ดียิ่งขึ้น
เป็นโรค ไขมันในเลือดสูง กินอะไรดี
ไขมันในเลือดสูง กินอะไรดี เป็นคำถามที่หลายคนกำลังมองหาคำตอบ เพราะการเลือกกินอาหารนับเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยควบคุมและ ลดไขมันในเลือด ให้อยู่ในระดับปกติ โดยอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีภาวะ ไขมันในเลือดสูง จะแบ่งเป็น
สำหรับผู้ที่คอเลสเตอรอลสูง
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือติดหนัง
- ปลา โดยเฉพาะปลาทะเล
- ไข่ขาว
- น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acid-PUFA) ในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอล
- นำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monosaturated Fatty Acid-MUFA) ในการประกอบอาหารเพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง หรืออาจรับประทานไขมันนี้ในรูปแบบอื่น เช่น ถั่วลิสง เนยถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง ก็ได้เช่นเดียวกัน
- ธัญพืชไม่ขัดสี หรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวโอ๊ตที่เป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) ที่สามารถช่วยในเรื่องการลดระดับของคอเลสเตอรอลได้
- ผักและผลไม้ ควรรับประทานเป็นประจำ หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงปริมาณผลไม้ที่เหมาะสมต่อวัน
- ถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว
- ดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดไขมัน
สำหรับผู้ที่ไตรกลีเซอไรด์สูง
- ธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืชไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
- ผลไม้ ไม่หวานจัดและมีกากใยอาหารสูง
- สามารถกิน ข้าว แป้ง เผือก หรือคาร์โบไฮเดรตได้ในปริมาณที่พอเหมาะ
- เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ปลา เนื้อไก่ส่วนอก เนื้อหมูไม่ติดมัน
- ขนมหวานสามารถกินได้ แต่ต้องไม่หวานจัดหรือมีแป้งน้อย เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าฮวย อีกทั้งยังควรกินในปริมาณที่พอเหมาะและไม่ควรกินบ่อย
เป็นโรค ไขมันในเลือดสูง ห้ามกินอะไรบ้าง
ผู้ที่มีภาวะ ไขมันในเลือดสูง อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องของอาหาร เพราะการกินที่ไม่ถูกหลักโภชนาการอาจจะยิ่งทำให้ไขมันในร่างกายสะสมมากยิ่งขึ้น โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรืองดสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง แบ่งเป็น
สำหรับผู้ที่คอเลสเตอรอลสูง
- เนื้อสัตว์ติดมัน ติดหนัง เช่น แคปหมู ปีกไก่ หมูสามชั้น
- เครื่องในสัตว์ เช่น สมอง ตับ กระเพาะ
- ไข่แดงของสัตว์ เช่น ไข่ปลา มันกุ้ง ไข่ไก่ ควรกินไม่เกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์
- น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fatty Acid) ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ
- อาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เนย มาการีน ขนมอบ หรือขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ
สำหรับผู้ที่ไตรกลีเซอไรด์สูง
- ขนมรสหวานจัด เช่น ขนมไทย
- ขนมอบหรือขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปังไส้หวาน
- ผลไม้รสหวานจัดหรือน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน ลำใย ละมุด น้อยหน่า ขนุน
- หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้น้ำตาลในการปรุงอาหาร
- แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
- อาหารทอดต่าง ๆ เช่น ปาท่องโก๋ ไข่เจียว กล้วยแขก
- อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิต่าง ๆ หรือขนมที่มีส่วนผสมของกะทิ
ไขมันในเลือดสูง นับเป็นภัยเงียบที่อาจส่งผลร้ายต่อชีวิต การลดความเสี่ยงด้วยการควบคุมพฤติกรรม ทั้งในเรื่องการกิน การพักผ่อน และการออกกำลัง นับเป็นเรื่องที่ส่งผลดีในระยะยาว เพราะการดูแลสุขภาพถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน
เลือกความคุ้มครองได้ตามต้องการแบบคุ้มๆ เหมาะกับทุกช่วงวัย ด้วยประกันสุขภาพเหมาจ่าย
วงเงินคุ้มครองตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 100,000,000 บาท
🛡️ ครอบคลุมโรคร้าย โรคมะเร็ง โรคไต รักษาด้วยการฟอกไต และเคมีบำบัดรักษามะเร็ง โดยไม่ต้องแอดมิต*
🩺 ผ่าตัดเล็กใหญ่ก็เหมาค่าห้องผ่าตัด ค่าห้อง ICU สูงสุด 365 วัน*
👓 อายุรับประกันสูงสุด 90 ปี ให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี
💊 ครอบคลุมเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย
รายละเอียดเพิ่มเติม
☑️ โทร. 1766 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
☑️ สนใจติดต่อตัวแทนเมืองไทยประกันชีวิต หรือ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทุกสาขา
*ความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพแบบอีลิท เฮลท์ พลัส
- เงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพซื้อแนบท้ายกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่
- ความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมต้องไม่เกินระยะเวลาเอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่สัญญาเพิ่มเติมนี้แนบท้าย
- เบี้ยประกันภัยสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เป็นไปตามที่กรมสรรพากร กำหนด
- การพิจารณารับประกันภัยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ
- โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย
- เงื่อนไขเป็นไปตามที่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กำหนด
ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 17/10/6
🔖 vibharam
🔖 med