ลดหย่อนภาษีคุ้ม กับ Easy E-Receipt 2568 ช้อปอะไรได้บ้าง?
มาแล้วว กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยได้นำมาใช้ในปี 2568 นั่นก็คือ Easy E-Receipt 2.0 ซึ่งเป็นการให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า หรือบริการมาหักลดหย่อนภาษีปี 2568 เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการออกใบกำกับภาษี ส่วน Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษีเริ่มตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน ใช้สิทธิลดหย่อนสูงสุดได้เท่าไหร่ และซื้อสินค้าประเภทไหนถึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มาดูกัน
1. Easy E-Receipt 2.0 เริ่มเมื่อไหร่?
2. Easy E-Receipt 2.0 ใครบ้างได้สิทธิลดหย่อน?
3. เงื่อนไขการใช้สิทธิ Easy E-Receipt
1. Easy E-Receipt 2.0 เริ่มเมื่อไหร่?
มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ได้รับจากการซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 50,000 บาท
ทำไมต้องรีบใช้ Easy E-Receipt 2.0?
Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการดี ๆ ที่รัฐบาลจัดมาให้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้เราประหยัดภาษีได้มากขึ้น แต่ทำไมถึงต้องรีบใช้กันนะ? มาดูเหตุผลกัน
- ช่วงเวลาจำกัด โครงการนี้มีระยะเวลาให้ใช้แค่ช่วงสั้น ๆ คือตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 เท่านั้น ถ้าพลาดช่วงเวลานี้ไป ก็ต้องรอโครงการใหม่ในปีหน้ากันเลย
- ลดหย่อนภาษีได้เยอะ Easy E-Receipt มีวงเงินลดหย่อนสูงสุดถึง 50,000 บาทเลย ช่วยให้เราจ่ายภาษีน้อยลงได้เยอะทีเดียว
- สนับสนุนเศรษฐกิจ การใช้จ่ายผ่านระบบ e-Receipt ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนมากขึ้นด้วย
2. Easy E-Receipt 2.0 ใครบ้างได้สิทธิลดหย่อน?
มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 เปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน สามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไปลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานบริษัท เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ ง่าย ๆ เลยคือ ใครที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็สามารถนำใบกำกับภาษีที่ได้จากการซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนได้ทั้งหมด
- ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึงบุคคลทั่วไปที่มีรายได้และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมาย
- ไม่รวมนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
3. เงื่อนไขการใช้สิทธิ Easy E-Receipt
ก่อนที่เราจะนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไปลดหย่อนภาษีได้นั้น มีเงื่อนไขบางประการที่เราต้องทราบ เพื่อให้สามารถใช้สิทธินี้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งภายใต้มาตรการนี้ ผู้เสียภาษีสามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น
1. ลดหย่อนสูงสุด 30,000 บาท ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
2. ลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท ต้องใช้หลักฐาน e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เช่นกัน โดยซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม
ประเภทสินค้าและบริการ
- ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และ นิตยสาร รวมถึงที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-BOOK)
- สินค้าและบริการทั่วไป
- สินค้า OTOP
- สินค้าจากวิสาหกิจชุมชน
สินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิ Easy E-Receipt ได้คือ
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และค่าซื้อเรือ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าว นอกเหนือจากระยะเวลาตามที่มาตรการนี้กำหนด
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
วิธีการนำไปลดหย่อน
- เก็บใบกำกับภาษี เก็บใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่ซื้อสินค้า
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นภาษี ให้แนบใบกำกับภาษีที่ได้มาประกอบการยื่น
ซึ่งสำหรับโครงการ Easy E-Receipt 2.0 แล้ว เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทั้งลดหย่อนภาษี และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกัน เพียงแค่เราซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่กำหนด และเก็บใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐาน ที่ได้จากการซื้อสินค้าหรือบริการไปใช้ลดหย่อนภาษีกันนะะะ
ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 7/01/68
🔖 iTAX